ถอดบนเรียน 'ประชุม COP28' การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
ถอดบทเรียนจากประชุม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่มีการตั้งประเด็นควบคุมยาสูบ COP10 ควรดูเป็นตัวอย่าง
เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ประเทศภาคีหลายประเทศได้พยายามผลักดันให้มีการลงนามข้อตกลงร่วมกันเพื่อ ค่อย ๆ สิ้นสุดการใช้ (phase out) เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อควบคุมอุณหภูมิและสภาพภูมิอากาศโลก แต่พอประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ออกมาคัดค้าน ท้ายที่สุดจึงมีการปรับแก้ข้อตกลงมาใช้คำว่า เปลี่ยนผ่าน (transition away) แทน ทำให้เกิดการประท้วงที่หน้าห้องประชุม
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์การประชุม COP28 ข้างต้น ถือว่าเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ที่ต้องมีการคำนึงถึงเสียงจากทุก ๆ ฝ่ายอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเสียงส่วนใหญ่หรือเสียงส่วนน้อย เพื่อให้แนวทางที่ตกลงร่วมกันถือได้ว่าเป็นแนวทางของประชาคมโลกอย่างแท้จริง แทนที่จะถือเอาเสียงจากข้างใดข้างหนึ่งมากำหนดชะตาชีวิตของทั้งโลก ทั้งที่ประเทศต่าง ๆ อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันตามบริบทและข้อจำกัดของแต่ละเทศ
การประชุมภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกครั้งที่ 10 หรือ FCTC COP10 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 10 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ที่ประเทศปานามา มีประเทศภาคี 168 ประเทศ ควรต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้านเช่นกัน มิใช่ยึดแต่ความเห็นจากฝ่ายรณรงค์ควบคุมยาสูบดังเช่นการประชุมครั้งก่อน ๆ ที่ปฏิเสธและกีดกันการเข้าร่วมประชุม การร่วมแสดงความเห็นหรือให้ข้อมูล หรือแม้แต่การเข้าร่วมรับฟังการประชุมจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการกีดกันสื่อมวลชนด้วย ซึ่งล้วนขัดกับหลักประชาธิปไตย
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญหนึ่งที่มีการหารือกันในที่ประชุมครั้งก่อน ๆ และจะมีการหารือกันในที่ประชุม FCTC COP10 ด้วย ก็คือเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมา WHO มีท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ขณะเดียวกันประเทศภาคีสมาชิกหลายประเทศก็มีนโยบายสนับสนุนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่มวน ตัวอย่างเช่นประเทศอังกฤษ นาย Neil O’Brien รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่สนับสนุนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ ได้ออกมากล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศย้ำจุดยืนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบโดยตลอด และจะยังคงทำต่อไปในการประชุม FCTC COP10 ที่จะถึงนี้ ซึ่งคณะผู้แทนของอังกฤษจะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจใดๆ ที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเลิกบุหรี่
สำหรับประเทศไทยเอง แม้จะห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านนี้ก็มีความพยายามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเปิดประเด็นให้เกิดการทบทวนการห้าม ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้แสดงจุดยืนที่จะสนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย หากคณะผู้แทนไทยที่ไปเข้าประชุม FCTC COP10 มีมุมมองที่ไม่หลากหลายมากพอและไม่ครอบคลุมถึงแง่มุมของสิทธิผู้บริโภคหรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจ น่าเป็นห่วงว่าจะไปโหวตหรือเสนอความเห็นใดๆ ที่เป็นการสร้างพันธกรณีที่จะเป็นอุปสรรคต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือกฎหมายของประเทศไทยในอนาคต