ประธานบอร์ด กยท. มั่นใจ 'ราคายาง' ทะลุ 100 บาท เดินหน้าขับเคลื่อน 7 นโยบาย
ประธานบอร์ด กยท. คนใหม่ เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย 7 ด้าน ภายใต้แนวคิด อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน ย้ำไม่แทรกแซงตลาด ใช้ กยท. สร้างเสถียรภาพ มั่นใจดูดซับปริมาณผลผลิตได้กว่า 400,000 ตันต่อปี ผลักดัน 'ราคายาง' พุ่งแตะเลข 3 หลัก ทะลุ 100 บาท/กก.แน่นอน
ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยถึงทิศทางนโยบาย กยท.ในปี 2567 ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่มีนโยบายที่จะแทรกแซงตลาดยางพารา แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไลของตลาด โดย กยท.จะเป็นหนึ่งในกลไกที่เข้าไปเป็นผู้เล่นในตลาด เพื่อที่จะรับซื้อยางในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับเกษตรกร พร้อมทั้งจะเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย 7 ด้านภายใต้แนวคิด "อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน" ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
โดยแนวคิด "อยู่ได้" มี 2 ด้านด้วยกันคือ สร้างปัจจัยการผลิตแบรนด์ "การยาง" เพื่อลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งจะผลักดันให้ กยท.ทำปุ๋ยและเคมีภัณฑ์เกี่ยวกับการทำสวนยางภายใต้แบรนด์ "การยาง" เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและสร้างรายได้ให้กับองค์กร จำหน่ายในราคาถูกมีคุณภาพได้มาตรฐานโดยในเบื้องต้นจะผลิต 100,000 ตัน ระยะแรกจำหน่ายในประเทศก่อนที่จะขยายไปตลาดต่างประเทศในอนาคต ติดอาวุธทางความรู้และเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยจะส่งเสริม ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพและเหมาะสมสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ส่วนแนวคิด "พอใจ" มีทั้งหมด 2 ด้านคือ บริหารจัดการโรคใบร่วงอย่างจริงจัง โดยบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ค้นคว้างานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาโรคใบร่วงอย่างเป็นระบบ ซึ่งขณะนี้มีภาคเอกชนให้ความสนใจวิจัยร่วมกับ กยท. กว่า 20 บริษัท โดยจะทำเป็นแปลงสาธิตในการกำจัดโรคใบร่วง ก่อนที่จะขยายผลไปสู่เกษตรกร ออก" โฉนดไม้ยาง" ทุกพื้นที่ทั่วไทย โดย กยท.จะเร่งทำการขึ้นทะเบียนต้นยาง เพื่อออกโฉนดไม้ยาง พร้อมทั้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางให้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการอย่างเป็นเอกภาพ
และแนวคิด "ยั่งยืน" มี 3 ด้านคือ สร้างตลาดยางมาตรฐานเดียวกันทุกท้องถิ่นทั่วไทย ที่รองรับกฏระเบียบที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) โดยจะผลักดันให้ 500 ตลาดยาง มีมาตรฐานรองรับระบบการซื้อขายยางของ กยท. สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ถึงสวนยางที่ปลูกว่ามีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมถึงการจัดการสวนยางพาราที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม สอดรับกับ EUDR ซึ่งนอกจากจะเพิ่มมูลค่ายางพาราไม่ต่ำกว่า 3 บาท/กิโลกรัมแล้ว เกษตรกรยังสามารถขาย Carbon Credit ได้อีกด้วย ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศผลิตยางที่มีมาตรฐานตามความต้องการของลูกค้า
นอกจากนี้ยังมีนโยบาย ผลิตยางล้อแบรนด์ "การยาง" รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นจากยางพารา ซึ่งจะดูดซับปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาดได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 400,000 ตัน พร้อมทั้้งบูรณาการและส่งเสริมงานด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และส่งเสริมสนับสนุนสถาบันเกษตรกรในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ที่มีศักยภาพสามารถต่อยอดได้ เน้นการทำตลาดแบบจริงจัง พร้อมส่งเสริมให้ราคายางของ กยท. เป็นราคากลางของตลาดยางอย่างมีเสถียรภาพ
" จากนโยบายทั้ง 7 ด้านดังกล่าวภายใต้การบริหารงาานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ราคายางจะขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะขึ้นสู่เลข 3 หลักอย่างมีเสถียรภาพแน่นอน ซึ่งขณะนี้เพิ่งเริ่มต้น ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 จากที่เคยราคาต่ำกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้ขยับขึ้นมา 73 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว" ประธานบอร์ด กยท.กล่าวทิ้งท้าย