ข่าว

ครม.เทงบปี66 วงเงิน 104 ล้านบาท จัดงาน "เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567"

ครม.เทงบปี66 วงเงิน 104 ล้านบาท จัดงาน "เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567"

20 ก.พ. 2567

ครม.เทงบ104 ล้านบาท เพื่องาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” จัดยิ่งใหญ่ ทั้งกทม.-พื้นที่อัตลักษณ์ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่าง 11-15 เม.ย.67 คาดมีนักท่องเที่ยว เข้าร่วมงานมากกว่า 200,000 คน สร้างรายได้และเงินหมุนเวียนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3,125 ล้านบาท

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 104,872,000 บาท (134,872,000-30,000,000) เพื่อดำเนินโครงการ Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดงานครั้งนี้ คือ สร้างสิทธิบัตร Intellectual Property Festival เพื่อเชิดชูงานที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานมากกว่า 200,000 คน สร้างรายได้และเงินหมุนเวียนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 3,125 ล้านบาท

 

 

ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำหนดจัดงาน Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ขึ้นในเดือนเมษายน 2567 ที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่อัตลักษณ์ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย เพื่อร่วมอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีอันงดงามของไทยและ เฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา

 

การจัดงานครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และผลักดันให้ประเทศไทย ติด 1 ใน 10 ประเทศสุดยอดเฟสติวัลของโลก โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติจากทั่วโลก รวมทั้งสื่อมวลชน Online/Offline ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

 

 

โดยจะจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง และพื้นที่อัตลักษณ์ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน 2567 กิจกรรมภายในงาน เช่น ขบวนรถพาเหรดสงกรานต์ จากกลุ่มจังหวัดเป้าหมาย 16 จังหวัด, 11 อุตสาหกรรม Soft Power (อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ ออกแบบ และแฟชั่น) ,การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม เช่น โขน รำมโนราห์, การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ, ลานสงกรานต์ 5 ภาค นำเสนอประเพณีสงกรานต์ในแต่ละภูมิภาค การแสดงน้ำพุประกอบดนตรี อุโมงค์น้ำ ถังน้ำล้นยักษ์ การทำบุญตักบาตร รดน้ำผู้สูงอายุ และสรงน้ำพระ เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย