จากหมู่บ้านภัยพิบัติ 'ตำบลกะทูน' สู่การพัฒนารายได้ 1 พันล้านบาทต่อปี
'ตำบลกะทูน' อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช จากหมู่บ้านภัยพิบัติได้รับการพัฒนา จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วันนี้มีรายได้กว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
จากภัยธรรมชาติดินถล่ม น้ำไหลหลากเข้าท่วมหมู่บ้านที่ 'ตำบลกะทูน' อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531 สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ในครั้งนั้น 3 - 4 วัน ได้เกิดพายุดีเปรสชัน ฝนตกต่อเนื่องหลายวัน ทำให้ดินบนภูเขาซับน้ำไว้อย่างต่อเนื่อง ดินที่รับน้ำหนักไว้มากจนเกินกำลังก็ลื่นไหลลงมาตามทางลาด ทำให้ดินที่อยู่ด้านล่างได้ถล่มตามลงมา
พร้อมด้วยท่อนซุง ต้นไม้ป่า และต้นยางพาราที่ชาวบ้านได้ปลูกไว้บนภูเขาก็ถูกถอนรากถอนโคนไหลตามกระแสน้ำกวาดบ้านเรือนและชีวิตผู้คน พร้อมทั้งพัดพาโคลนดินเข้าไปท่วมทับซ้ำอีก นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่ชาวกะทูนยังจดจำไม่รู้ลืม
หลังโศกนาฏกรรมครั้งนั้น หมู่บ้านเก่าที่เป็นแหล่งรับน้ำก็ถูกสร้างให้เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เหมาะสมกับภูมิประเทศ สร้างความชุ่มชื้น คืนสู่ความสุข ความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิตที่ดีกว่าให้คนรอบพื้นที่ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบกับอุทกภัยและทรงเห็นถึงความทุกข์ยากของชาวบ้านซึ่งประสบเหตุอุทกภัยในครั้งนี้
ในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 จึงมีพระราชดำริให้หาทางป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่กรมชลประทานดำเนินโครงการอย่างครอบคลุม ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำคลองดินแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาพระ และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะทูนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำตาปีตอนล่างในเขตอำเภอพิปูน และอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม
โดยนายศิริพงษ์ โภชนาทาน ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำสองพี่น้องพัฒนา ตำบลกะทูน และตำบลควนกลาง อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เผยว่า เกษตรกรชาวตำบลกะทูน ตำบลควนกลาง ได้ใช้น้ำเพื่อทำการเกษตรอย่างไม่ขัดสน มีน้ำจากคลองชลประทานส่งถึงแปลงเพาะปลูก ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำสวนยางพาราและสวนทุเรียน ทุกวันนี้ได้ผลผลิตดีทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น กลุ่มผู้ใช้น้ำทั้ง 5 หมู่บ้าน มีกว่า 2,000 ครัวเรือนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่
ตอนนี้มีอาชีพเสริม คือ ทำประมงน้ำจืด โดยหาปลาในอ่างเก็บน้ำ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นทุกวัน บางคนจัดกิจกรรม นำนักท่องเที่ยวออกไปตกปลากลางอ่างเก็บน้ำทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง บางคนเปลี่ยนจากทำสวนยางพารามาปลูกพืชให้ผลชนิดอื่น เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด เพราะได้ราคาดีกว่า โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาราษฎรในพื้นที่มีรายได้รวมกันพันกว่าล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูลจากธนาคารที่เกษตรกรนำเงินรายรับไปเข้าบัญชี นับเป็นความโชคดีของชาวบ้านที่นี่ ในนามของพสกนิกรชาวกะทูนขอขอบพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงเมตตาสร้างแหล่งน้ำให้ชาวพิปูนได้ต่อยอดเลี้ยงชีวิต มีกินมีใช้ไม่ขัดสนในทุกวันนี้” นายศิริพงษ์ โภชนาทาน กล่าว
ทางด้านนายพงษ์ศักดิ์ ด้วงโยธา ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมสนองงาน โดยเฉพาะการสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดเผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำคลองดินแดงฯ ตำบลเขาพระ และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะทูนฯ ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่ป่าต้นน้ำเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อปี 2559 มีเนื้อที่ 61,000 ไร่เศษ มีการดูแลทั้งสัตว์ป่าและทรัพยากรป่าไม้ให้เป็นป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์สำหรับเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง
" จากปี 2559 ที่มีการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน กรมอุทยานฯ ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่โดยมีราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน นับตั้งแต่การปลูกป่าในพื้นที่เสื่อมโทรม การเฝ้าระวังไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนการร่วมกันดูแลรักษาสภาพป่าและสัตว์ป่า โดยไม่มีการล่าจับสัตว์ป่าและเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่า ที่สำคัญในวันนี้ราษฎรในพื้นที่ต่างเข้าใจและรับรู้เป็นอย่างดีว่า พื้นที่ตรงนี้คือป่าต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง เมื่อป่าต้นน้ำสมบูรณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำก็จะมีตลอดทั้งปี ทำให้พื้นที่เพาะปลูกไม่ขาดแคลนน้ำ และที่สำคัญเหตุการณ์ภัยพิบัติเช่นปี 2531 จะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะมีป่าต้นน้ำช่วยลดความแรงของน้ำและมีอ่างเก็บน้ำคอยกักเก็บไม่ให้ไหลบ่ารุนแรงกระทบพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน" นายพงษ์ศักดิ์ ด้วงโยธา กล่าว
อ่างเก็บน้ำคลองกะทูนฯ เป็นเขื่อนดิน สูง 24 เมตร ยาว 1,808 เมตร ขนาดความจุ ประมาณ 70,500,000 ลูกบาศก์เมตร มีอาคารท่อส่งน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก อาคารระบายน้ำล้น อาคารท่อส่งน้ำเข้าคลองคอนกรีตเสริมเหล็ก โรงสูบน้ำและระบบท่อส่งน้ำ จำนวน 14 สาย ความยาว 24.021 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานกว่า 13,300 ไร่ ในตำบลกะทูน และตำบลควนกลาง
วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธาน อนุกรรมการฯ นายศุภรัชต์ อินทราวุธ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นติดตามการดำเนินงานของโครงการฯ พบว่าปัจจุบันยังใช้การได้ปกติ
โดยสามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เพาะปลูกและบ้านเรือนราษฎรบริเวณสองฝั่งแม่น้ำตาปี นอกจากนี้ยังส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎร จำนวน 360 ครัวเรือน ราษฎร 975 คน และพื้นที่ทำการเกษตรสองฝั่งแม่น้ำตาปีได้ไม่น้อยกว่า 13,300 ไร่ อย่างเพียงพอตลอดปี รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนที่มีสมญานามว่า สวิตเซอร์แลนด์แดนใต้ ส่งผลให้ราษฎรมีรายได้ คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ราษฎรร่วมจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน (อ่างเก็บน้ำคลองกะทูน) รวม 5 กลุ่ม เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกครอบครัว
นอกจากนี้สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดแผนปรับปรุงระบบส่งน้ำเพิ่มเติมเพื่อให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึงเต็มศักยภาพและเพียงพอตลอดทั้งปี