เพจผู้ใช้ 'บุหรี่ไฟฟ้า' ยื่นข้อมูลกมธ.วิสามัญ เสนอแนวทางถูกกฎหมาย
เครือข่ายผู้ใช้ฯ เข้าให้ข้อมูลกมธ.วิสามัญ 'บุหรี่ไฟฟ้า' เผยบทลงโทษรุนแรงกว่าเสพยาบ้า หนุนรัฐมนตรี พวงเพ็ชร ปกป้องเด็ก-เยาวชน เสนอแนวทางบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย
เพจผู้ใช้ 'บุหรี่ไฟฟ้า' มนุษย์ควัน เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมยกกรณี อย.สหรัฐฯอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อนและบุหรี่ไฟฟ้าขายได้อย่างถูกกฎหมาย เผยบทลงโทษจากการครอบครอง 'บุหรี่ไฟฟ้า' และผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อนรุนแรงกว่าการเสพยาบ้า ทั้งที่ในกว่า 87 ประเทศทั่วโลกให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย
สาริษฏ์ สิทธิเสรีชน เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ มนุษย์ควัน ที่มีผู้ติดตามกว่า 20,000 ราย รวมทั้งเครือข่ายผู้ใช้ 'บุหรี่ไฟฟ้า' ได้เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า สภาผู้แทนราษฎร
พร้อมเสนอข้อมูลผลวิจัยและการศึกษาจากหน่วยงานสาธารณสุขชั้นนำ เช่น องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ กระทรวงสาธารณสุขนิวซีแลนด์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์อังกฤษ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า หน่วยงานสาธารณสุขของหลายประเทศทั่วโลกต่างชี้ว่า 'บุหรี่ไฟฟ้า' และผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อนมีระดับสารพิษที่เป็นอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกายังได้ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้านั้นมีศักยภาพที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูบบุหรี่หากนำมาทดแทนบุหรี่มวน ข้อมูลเหล่านี้คนไทยไม่เคยได้ทราบเลย แถมมีโทษรุนแรงกว่าเสพยาบ้า
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกไม่ได้บังคับให้ทุกประเทศแบน 'บุหรี่ไฟฟ้า' แต่ให้แต่ละประเทศเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศนั้น ๆ ขณะนี้กว่า 87 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และนิวซีแลนด์ ล้วนอนุญาตให้ 'บุหรี่ไฟฟ้า' และผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อนถูกกฎหมาย ส่งผลให้ปัญหาในเรื่องของตลาดใต้ดินลดลง และตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนที่ลดลงในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากอย.สหรัฐนั้นเข้มงวดเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้แบนเบ็ดเสร็จ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ได้เข้าถึงและสามารถปกป้องเด็กและเยาวชนไปพร้อม ๆ กัน ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อน ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนเท่าใดนัก
" ผมเห็นด้วยกับท่านรัฐมนตรีพวงเพ็ชรฯ ที่ประสานกับกระทรวงดีอีเอสเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากบุหรี่ไฟฟ้า แต่การแบนนั้นไม่สามารถทำได้จริง หากจะปิดร้านออนไลน์ 1,300 ร้านค้า วันรุ่งขึ้นก็จะมีการเปิดเพจออนไลน์ใหม่วนไปไม่รู้จบ ผมจึงขอเสนอให้ศึกษาแนวทางของอีก 87 ประเทศทั่วโลกที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ขณะที่ 30 กว่าประเทศ เช่น สิงคโปร์ อินเดีย ออสเตรเลีย รวมถึงไทยที่แบนบุหรี่ไฟฟ้ามายาวนานกว่า 10 ปีนั้นล้วนเจอกับประเด็นปัญหามากมาย เช่น การลักลอบซื้อขายและนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือการสูญเสียรายได้ภาษีของรัฐบาล หากจะแบนต่อไปก็คงไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ดีขึ้นอีกแล้วเพราะมีผู้ใช้เกือบ 1 ล้านคนในปัจจุบัน"
สาริษฏ์ สิทธิเสรีชน กล่าวทิ้งท้ายว่า " ผู้สูบบุหรี่ไทยกว่า 10 ล้านคนกำลังคาดหวังกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่กำลังดำเนินการศึกษาเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อน เราหวังว่าจะได้เห็นกฎหมายการควบคุมยาสูบของไทยที่ใช้ผลวิทยาศาสตร์เป็นตัวตั้ง มีความเป็นสากล และหาจุดสมดุลให้ได้บนความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน"