ดราม่า "บิลค่าไฟ" ปลอม กฟภ. สุรินทร์ แจงข้อเท็จจริงแล้ว
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สุรินทร์ แจงดราม่า "บิลค่าไฟปลอม" สรุปคือ "บิลค่าไฟ" ของจริง เผยสาเหตุ บิลเปลี่ยนไป ทำสับสน
จากกรณีได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ว่า มีมิจฉาชีพ นำ “บิลค่าไฟ” ปลอม มาเสียบไว้ที่หน้าบ้าน รวมประมาณ 10 หลัง โดยทุกบิลจะระบุข้อความว่า "ใบแจ้งเตือนค่าไฟฟ้าค้างชำระ" แต่เลขที่บ้านที่ระบุไว้ในบิลค่าไฟนั้น ไม่ตรงกับเลขที่บ้าน ที่ถูกนำบิลค่าไฟมาเสียบไว้ จนชาวบ้านต่างเกรงว่า ผู้สูงอายุ อาจตกเป็นเหยื่อ เผลอสแกนคิวอาร์โค้ด ทำให้สูญงินได้
ล่าสุด นายธัญญา คุ้มมี ผู้จัดการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.สุรินทร์ (กฟภ. สุรินทร์) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ชาวบ้นตั้งข้อสงสัยว่า “บิลค่าไฟ” ที่ได้รับมีขนาดของบิล และรูปแบบที่เปลี่ยนไป ทำให้ชาวบ้านคิดว่าอาจจะเป็นบิลค่าไฟปลอมนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว ยืนยันว่า บิลดังกล่าวเป็นของ กฟภ.จริง ซึ่งบิลค่าไฟที่ชาวบ้านได้รับไม่ใช่บิลแจ้งค่าไฟฟ้า แต่เป็นบิลแจ้งค่าไฟฟ้าในกรณีค้างชำระ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ใบแจ้งเตือนก่อนตัด
โดยจุดสักเกตจะอยู่ที่มุมขวาบนของกระดาษ จะระบุชัดเจน ส่วนที่ชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมใบแจ้งเตือนถึงไม่เป็นกระดาษ A4 อย่างที่เคยได้รับ ซึ่งจริงๆ แล้ว ในรูปแบบกระดาษ A4 ก็ยังมีใช้อยู่เช่นกัน แต่อาจจะเป็นกรณีที่ระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเองเกิดการขัดข้อง หรือไม่สามารถเช็คข้อมูลของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ในขณะนั้น ทางการไฟฟ้าเลยอาจจะต้องนำกระดาษ A4 ออกไป
เช็กก่อนจ่าย 'บิลค่าไฟปลอม' ระบาดหนัก แนะจุดสังเกต เจอแบบนี้บิลปลอมชัวร์
ผู้จัดการ กฟภ. สุรินทร์ อธิบายต่อว่า จากที่ชาวบ้านเข้าใจว่า บิลค่าไฟ ที่ได้รับ เป็นบิลค่าไฟปลอม เพราะมีสีที่เปลี่ยนไป จึงอยากจะขออธิบายว่า ถ้าเป็นใบแจ้งค่าไฟรุ่นเก่า บิลค่าไฟจะสีม่วงน้ำเงินอ่อน และตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 ทาง กฟภ. ได้เปลี่ยนรูปแบบของบิลค่าไฟใหม่ เป็นสีม่วงแดงอ่อน
ส่วนข้อแตกต่างที่บิลรุ่นใหม่มีนั้นคือ ถ้ากรณีชาวบ้านจ่ายค่าไฟในระบบออนไลน์ ในบิลจะมีใบเสร็จต่อท้ายในบิลมาด้วย และอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้ชาวบ้านตั้งข้อสงสัย เรื่องที่เจ้าหน้าที่นำบิลมาเสียบผิดบ้าน จนโยงไปถึงประเด็นเป็นบิลค่าไฟปลอมนั้น ทาง กฟภ.ต้องขอน้อมรับความผิดพลาดในส่วนนี้ และขอโทษประชาชนไว้ ณ ที่นี้ด้วย
หลังจากนี้ จะเข้าไปกำชับและตรวจเช็คข้อมูลให้ระเอียด ว่าบ้านที่ถูกเสียบบิลค่าไฟผิดนั้น อยู่ที่จุดไหนบ้าง และจะได้เรียกทางผู้ประกอบการ ที่เป็นผู้รับงานต่อจาก กฟภ. เข้ามารับทราบ และอาจจะมีการตักเตือน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ประชาชน สามารถเข้าไปติดตามข่าวสารจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งมีช่องทางต่างๆ ดังนี้
- www.pea.co.th
- pea สมาร์ทพลัส
- Facebook การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- 1129 pea คอลเซ็นเตอร์
- และที่สะดวกที่สุด คือที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทุกแห่ง