ข่าว

'ชีวิตนี้ชะตาลิขิต' บอกเล่าเรื่องราว 7 รอบนักษัตรของดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

'ชีวิตนี้ชะตาลิขิต' บอกเล่าเรื่องราว 7 รอบนักษัตรของดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

19 มี.ค. 2567

'ชีวิตนี้ชะตาลิขิต' ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล หนังสือบอกเล่าเรื่องราวชีวประวัติ ตลอด 7 รอบปีนักษัตร ตั้งแต่วัยเยาว์ถึงปัจจุบัน รายได้จากการจำหน่ายมอบสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นายกกิตติมศักดิ์ และประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จัดพิมพ์หนังสือ 'ชีวิตนี้ชะตาลิขิต' ซึ่งดร.สุเมธได้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระราชานุญาตในการจัดพิมพ์ ด้วยมีเจตจำนงที่จะมอบให้เป็นลิขสิทธิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา และรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายหนังสือมอบสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

หนังสือชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ 'ชีวิตนี้ชะตาลิขิต' ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล โดยเป็นหนังสือบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ 'ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล' ตั้งแต่วัยเยาว์ถึงปัจจุบัน โดยความพิเศษของหนังสือเล่มนี้ คือการบันทึกช่วงชีวิตตลอด 7 รอบนักษัตร หรือ 84 ปี ตั้งแต่เกิดได้รับการศึกษา ออกเดินทางสู่โลกกว้าง และกลับมารับใช้แผ่นดินด้วยการพัฒนา ซึ่งในแต่ละช่วงวัยได้ผ่านประสบการณ์หลากหลายทั้งด้านดีและไม่ดี รวมถึงเหตุการณ์ในช่วงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ และการได้รับโอกาสในการถวายงานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จวบจนถึงปัจจุบัน โดยได้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิต และมุมมองต่อเรื่องราวและเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ของ 'ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล' โดยถ่ายทอดให้เห็นถึงความเป็นจริงของวิชิตปุถุชน ที่มีทั้งด้านดีและไม่ดีควบคู่กันไป

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

โดย 'ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล' กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวในการแถลงข่าวว่า การเขียนชีวประวัติ ไม่เคยคิดว่าจะเขียน ไม่เคยเขียนแม้กระทั่งไดอารี่ มัวแต่ไปเขียนเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัว เรื่องการพัฒนา โดยจุดเริ่มต้นของการจัดทำหนังสือ 'ชีวิตนี้ชะตาลิขิต' ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เกิดขึ้นจากความตั้งใจของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานรุ่นผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ นพย. ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดทำหลักสูตรการอบรมนี้ขึ้นเมื่อปี 2559 เพื่อสร้างผู้นำคลื่นลูกใหม่ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอันจะนำสังคมไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุลเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนต่อไป

จึงทำให้มีฐานะเป็นครูใหญ่ ของหลักสูตร นพย. โดยเหล่าลูกศิษย์เห็นว่าในแต่ละช่วงชีวิตทุกช่วงวัย ของ 'ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล' มีประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นโดยเฉพาะในช่วงวัยที่ต้องจากประเทศไทย ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศเวียดนาม ลาว และฝรั่งเศส รวมถึงการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา 

 อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจ ที่อาจจะไม่เคยทราบมาก่อนโดยเฉพาะการทรงงานเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลังต่อไป โดยหนังสือชีวประวัติเล่มนี้ ได้ถอดบทเรียน ในแต่ละช่วงเวลา ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ว่ามีบทเรียนอะไรมาสอนคนบ้าง และเมื่อเขียนแล้วเมื่อจัดทำแล้วได้ถวายลิขสิทธิ์ มีให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา เพราะฉะนั้นทุกบาททุกสตางค์ที่ได้ จะเข้ามูลนิธิชัยพัฒนาทั้งหมด

หนังสือชีวิตนี้ชะตาลิขิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เห็นท่านอาจารย์มีบุคลิกอารมณ์ดีเช่นนี้ ใครจะนึกฝันว่าท่านเคยเผชิญกับทางแยกและจุดหักเหของโชคชะตาชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า มีประสบการณ์เฉียดตายนับไม่ถ้วน ด้วยความแข็งแกร่งเพียงพอและการตั้งสติที่ดีพอ จึงทำให้ท่านสามารถฝ่าฟันอุปสรรคได้ในสถานการณ์ที่มืดมนและชะตาแปรผันเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ยังเป็นบันทึกสำคัญเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ของการพัฒนาประเทศไทย ในยุคที่โลกมีความวุ่นวายและสับสน ว่าประเทศไทยของเราได้ประคับประคองตัวเองให้ผ่านวิกฤตหลายๆครั้งมาได้อย่างไรโดยยังสามารถสร้างประโยชน์และความสุขให้แก่สังคมไทยมาตราทุกวันนี้

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

 

สำหรับหนังสือ 'ชีวิตนี้ชะตาลิขิต' ได้แบ่งเนื้อหาภายในออกเป็น 7 บทตาม 7 รอบนักษัตรดังนี้

รอบนักกษัตร ที่ 1 (พุทธศักราช 2482 - 2494) วัยเยาว์รสหวานปนขม เป็นช่วงชีวิตวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงก่อนวัยเรียน ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยด้วยร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรงนักและครอบครัวแตกแยก

รอบนักกษัตร ที่ 1 พุทธศักราช 2482 - 2494 วัยเยาว์รสหวานปนขม

รอบนักษัตร ที่ 2 (พุทธศักราช 2494 - 2506) เปิดประตูสู่โลกกว้าง เป็นช่วงชีวิตวัยเรียน ที่ต้องเดินทางเพื่อศึกษาต่อในหลายประเทศเนื่องจากเกิดภัยสงคราม

 

ชีวิตนี้ชะตาลิขิต

 

รอบนักษัตร ที่ 3 (พุทธศักราช 2506 - 2518) กลับสู่มาตุภูมิ เป็นช่วงชีวิตของการทำงานในประเทศไทย เริ่มรับราชการที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาพัฒน์ และทำงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่กองทัพทั้ง 4 ภาค และจุดเริ่มต้นชีวิตกลางสนามรบ

รอบนักษัตร ที่ 3 พุทธศักราช 2506 - 2518 กลับสู่มาตุภูมิ

รอบนักษัตร ที่ 4 (พุทธศักราช 2518 - 2530) รอนแรมในสมรภูมิ เป็นช่วงการดำรงตำแหน่งเลขานุการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานเลขานุการกปร.) และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจในสภาพัฒน์ไปพร้อมกัน ชีวิตการทำงานที่ต้องวางแผนรับมือสงครามและปฏิบัติงานในสนามรบจริงถึง 11 ปีและเริ่มต้นการเป็นนักเรียนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยาวนานถึง 35 ปี

รอบนักษัตร ที่ 4 พุทธศักราช 2518 - 2530 รอนแรมในสมรภูมิ

รอบนักษัตร ที่ 5 (พุทธศักราช 2530 - 2542) ถวายงานด้านการพัฒนา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และโปรดเกล้า ฯ ให้ดร. สุเมธ เป็นเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นช่วงของการดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมกับเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานกปร.)ชีวิตการทำงานแบบซี 22

การเดินทางของชีวิต ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

รอบนักษัตร ที่ 6 (พุทธศักราช 2542 - 2554) รางวัลแห่งชีวิต ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ และทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และการทำงานอย่างไม่มีวันเกษียณ

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

รอบนักษัตร ที่ 7 (พุทธศักราช 2554 - 2566) ฝากไว้ให้สานต่อ ดร.สุเมธ เข้าเฝ้าถวายรายงานสถานการณ์ต่าง ๆ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ โรงพยาบาลศิริราชครั้งสุดท้าย และรับสั่งว่า "สุเมธงานยังไม่เสร็จนะ"

รอบนักษัตร ที่ 7 พุทธศักราช 2554 - 2566 ฝากไว้ให้สานต่อ

การจัดตามหนังสือเล่มนี้ได้รับการสนับสนุนการจัดพิมพ์ โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสิริวัฒนภักดี โดยมีบริษัท อมรินทร์ คอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบการจัดวางเนื้อหารวบรวมข้อมูลและวางรูปแบบหนังสือรวมทั้งจัดพิมพ์

หนังสือ 'ชีวิตนี้ชะตาลิขิต' ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล จะเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม - 8 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานและทรงซื้อหนังสือ 'ชีวิตนี้ชะตาลิขิต' ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เล่มแรกที่วางจำหน่าย ในวันที่ 28 มีนาคม 2567 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อ ดร.สุเมธ อย่างหาที่สุดไม่ได้

ชีวิตนี้ชะตาลิขิต

นอกจากนี้ยังได้วางจำหน่ายร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ ร้านภัทรพัฒน์ ร้านมูลนิธิชัยพัฒนา สาขาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รายได้จากการจำหน่ายหนังสือทั้งหมดสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา ในราคาเล่มละ 999 บาท