ข่าว

'กยท.' จับมือ กนอ. ลงนาม MOU ขับเคลื่อนนิคมฯยางพารา

'กยท.' จับมือ กนอ. ลงนาม MOU ขับเคลื่อนนิคมฯยางพารา

21 มี.ค. 2567

'กยท.' เดินหน้าจับมือ กนอ.ลงนาม MOU ผนึกกำลังขับเคลื่อนนิคมฯยางพารา ใช้มาตรการตรวจสอบย้อนกลับดึงนักลงทุนต่างชาติ

'กยท.' เดินหน้า จับมือ กนอ.ลงนาม MOU ขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมยางพาราให้เห็นผลเป็นรูปธรรม  พร้อมดึงนักลงทุนจากต่างชาติ ชูจุดเด่นตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มายาง ดันไทยก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางยางพาราโลก สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ให้ทุกภาคส่วนในวงการยางพาราอย่างยั่งยืน 

 

 

ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยว่า จากภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่างๆทั้งในและนอกประเทศ  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในกลุ่มยานยนต์  ถุงมือยาง และอุปกรณ์การแพทย์ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยางพาราในภาพรวม 

คาดว่าระหว่างปี 2567-2568 จะมีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งด้านผลผลิตและความต้องการใช้ จะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกยางพาราในปี 2566 ที่ผ่านมา สามารถนำรายได้เข้าประเทศมากกว่า  60,000 ล้านบาท  กยท.ได้เล็งเห็นข้อได้เปรียบของผลิตภัณฑ์ยางพาราและโอกาสในสถานการณ์ดังกล่าว   ที่ผลักดันและสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ  ให้เป็นจริง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางพาราอย่างยั่งยืน และจะทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศศูนย์กลางยางพาราโลก ตามนโยบายของรัฐบาล 

\'กยท.\' จับมือ กนอ. ลงนาม MOU ขับเคลื่อนนิคมฯยางพารา

 

ล่าสุด เมื่อเร็ว ๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยางพารา  ได้จับมือกับกา

รนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีศักยภาพด้านการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม  ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อการวิจัยพัฒนา การบริการวิชาการ และความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจยางพารา และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในนิคมอุตสาหกรรม  ซึ่งกรอบแนวทางดำเนินงานภายใต้ MOU ดังกล่าว ไม่เพียงแค่ การร่วมมือกันส่งเสริม สนับสนุน การศึกษา วิจัย พัฒนา หรือการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราเท่านั้น แต่ยังจะสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ อีกด้วย 

 

" กรอบการดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยเชื่อมโยงระหว่างภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน ตั้งแต่การเริ่มปลูก การแปรรูปน้ำยางเป็นผลิตภัณฑ์ การเพิ่มมูลค่าให้สินค้าที่ทำจากยางพารา ต่อเนื่องเป็นสายธารในการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามพันธกิจของ กยท. ในการสร้างความเข้มแข็ง และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้ตามเป้าหมายต่อไป” ประธานบอร์ด กยท.กล่าว 

 

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า หลังจากนี้ กยท. และ กนอ. จะร่วมทำ Road Show  เพื่อหาตลาดและนักลงทุนที่สนใจลงทุนในอุตสาหกรรมด้านยางพารา  ซึ่งมีการจัดการระบบนิคมฯ ให้มีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน  ตัวสินค้า  พื้นที่ที่รองรับ รวมทั้งนักลงทุนยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนและวัตถุดิบยาง โดยเฉพาะวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตและแปรรูปภายในนิคมอุตสาหกรรม จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาตามกฎระเบียบ EUDR ที่สหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศจะนำมาใช้บังคับอีกด้วย   

 

ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีสวนยางของเกษตรกร ที่อยู่ในระบบการตรวจสอบย้อนกลับได้แล้วประมาณ 14 ล้านไร่ และตั้งเป้าจะเพิ่มสวนยางพาราให้เข้าสู่ระบบตรวจสอบย้อนกลับให้ได้ถึง 19 ล้านไร่ก่อนสิ้นปี 2567  จากพื้นที่ปลูกสวนยางทั่วประเทศกว่า 20 ล้านไร่ ซึ่งการที่ไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบยางที่มีการจัดการเพื่อรองรับมาตรฐานสากลสามารถดึงดูดนักลงทุนทั้งจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นจากยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน  ญี่ปุ่น  และประเทศอื่น ๆ เข้ามาร่วมลงทุนได้อย่างแน่นอน