ข่าว

ครม.เคาะเสนอมรดกภูมิปัญญา 'ชุดไทย' – 'มวยไทย' ขึ้นทะเบียนยูเนสโก

ครม.เคาะเสนอมรดกภูมิปัญญา 'ชุดไทย' – 'มวยไทย' ขึ้นทะเบียนยูเนสโก

26 มี.ค. 2567

เสริมศักดิ์ เผย ครม.เห็นชอบให้เสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 'ชุดไทย' – 'มวยไทย' เข้าคิวขึ้นทะเบียน มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม.ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงวัฒนธรรม ในการเสนอรายการ 'มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม' ของประเทศไทย 2 รายการ คือ 'ชุดไทย' และ 'มวยไทย' โดยให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นำเสนอเอกสารข้อมูลประกอบการพิจารณา ส่งให้ทางสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ของประเทศไทย (Thai National Commission for UNESCO) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งเอกสารให้ยูเนสโก ให้ทันภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 นี้ เพื่อเข้าสู่ลำดับการพิจารณาต่อจากรายการ 'ต้มยำกุ้ง' และ 'เคบาย่า' (มรดกร่วม 5 ประเทศ ไทย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) ที่ยูเนสโก บรรจุเข้าวาระที่ประชุมของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ครั้งที่ 19 ระหว่าง 2–7 ธันวาคม 67 ณ สาธารณรัฐปารากวัย และต่อด้วยรายการ 'ผ้าขาวม้า' ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโกไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมาแล้ว

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.)

รมว.วธ. ได้เปิดเผยถึง ความสำคัญและสาระของมรดกฯ ทั้ง 2 รายการนี้ด้วยว่า รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรม 'ชุดไทย' : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ 'ชุดไทย' เป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานาน พบหลักฐานมีการนุ่ง และการห่ม มากว่า 1400 ปี ตั้งแต่สมัยทวารวดี อยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ภาพการแต่งกายจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าให้คนรุ่นหลัง ได้รับรู้และสืบทอด ในปีพุทธศักราช 2503 'ชุดไทย' ได้รับการพัฒนารูปแบบครั้งสำคัญ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทย และสร้างสรรค์ 'ชุดไทย' ขึ้น 8 แบบ ส่วนของสุภาพบุรุษ มี 3 แบบ คนไทยทุกภูมิภาคมักสวมใส่ชุดไทยในวาระโอกาสต่าง ๆ และเมื่อมีโอกาสสำคัญในชีวิต ทั้งงานรัฐพิธี งานพิธีการทางศาสนา ถือเป็นแนวปฏิบัติทางสังคมและยังเป็นกระบวนการผลิตของช่างฝีมือไทยทั้งในเรื่องของการทอผ้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบ และงานช่างตัดเย็บ ตลอดจนการปักประดับลวดลายบนผืนผ้าอีกด้วย

ชุดไทยพระราชนิยม 8 แบบ

 

ในส่วนของ 'มวยไทย' เป็นศิลปะการต่อสู้ของไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ปรากฏหลักฐานใน จดหมายเหตุว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม ซึ่งบันทึก โดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère) 'มวยไทย' เป็นวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าในระยะประชิดตัว เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ก่อกำเนิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ สัตว์ป่า มนุษย์ และภัยจากสงคราม  การฝึกฝนวิชา 'มวยไทย' มีตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน จนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไว้ใช้ในการป้องกันตนเองและปกป้องประเทศ เอกลักษณ์โดดเด่นของ 'มวยไทย' คือ การใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในการป้องกันตัว ซึ่งครูบาอาจารย์ได้คิดค้นกลวิธีการฝึกจากการเลียนแบบท่าทางของสัตว์ การสังเกตธรรมชาติ และวรรคดี รวมถึงวิถีชีวิตตามบริบทท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคประยุกต์เป็นท่าทางมวยต่าง ๆ และยังมีพิธีกรรมของการมอบตัวเป็นศิษย์ การขึ้นครู และการครอบครู  การแสดงความกตัญญูต่อครูอาจารย์และผู้มีพระคุณ เห็นได้จากการรำไหว้ครูมวยไทยก่อนการชกทุกครั้ง

มวยไทย

ปัจจุบัน 'มวยไทย' เป็นกีฬาประจำชาติ เป็นกีฬาอาชีพ มีการจัดการเรียนการสอนมวยไทยในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มวยไทยจึงถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

ไหว้ครูมวยไทย

 ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งรายการ 'ชุดไทย' และ 'มวยไทย' นี้ เป็นการนำเสนอยูเนสโก เพื่อขอขึ้นทะเบียนในประเภท บัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก 5 เกณฑ์ ประกอบด้วย

  1. รายการที่นำเสนอนี้สอดคล้องกับลักษณะของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามที่นิยามไว้ในมาตรา 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 
  2. การขึ้นทะเบียนรายการที่นำเสนอนี้จะส่งเสริมความประจักษ์และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระดับโลก และแสดงถึงความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ 
  3. มาตรการสงวนรักษาที่เสนอมานั้น ผ่านการพิจารณามาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มีการป้องกันและส่งเสริม และมีการกำหนดมาตรการสงวนรักษาวัฒนธรรม
  4. รายการที่นำเสนอนี้เกิดจากชุมชน กลุ่มบุคคล หรือปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
  5.  เป็นรายการที่ปรากฏและดำรงอยู่ในดินแดนของรัฐภาคีสมาชิกที่นำเสนอ โดยบรรจุอยู่แล้วในบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของรัฐภาคีสมาชิกตามที่นิยามไว้ในอนุสัญญา มาตรา 11 และ 12