ข่าว

คร.ลงพื้นที่ค้นหาผู้ได้รับผลกระทบจาก 'แอมโมเนียรั่ว' จากโรงงานน้ำแข็ง

คร.ลงพื้นที่ค้นหาผู้ได้รับผลกระทบจาก 'แอมโมเนียรั่ว' จากโรงงานน้ำแข็ง

18 เม.ย. 2567

กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ติดตามเร่งค้นหาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 'แอมโมเนียรั่ว' และวางแผนเฝ้าระวังสุขภาพ เพื่อป้องกันอันตรายจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยจัดทำมาตรการเพื่อป้องกันประชาชนและ ผู้ปฏิบัติงานไม่ให้มีผลกระทบต่อสุขภาพ

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงกรณีเหตุการณ์พบ 'แอมโมเนียรั่ว' ภายในโรงงานน้ำแข็ง จ.ชลบุรี ทำให้ประชาชนในละแวกนั้นได้รับผลกระทบจำนวนมาก มีอาการหมดสติ แสบตา แสบจมูก และแน่นหน้าอก โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมสถานการณ์ และอพยพประชาชนให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว 

คร.ลงพื้นที่ค้นหาผู้ได้รับผลกระทบจาก แอมโมเนียรั่วจากโรงโรงงานน้ำแข็งบางละมุง

นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า 'ก๊าซแอมโมเนีย' มีสถานะเป็นก๊าซไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ถ้ามีความเข้มข้นสูงจัด เป็นสารที่มีความเป็นพิษ และเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ดวงตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หากสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน เมื่อ 'ก๊าซแอมโมเนีย' สัมผัสกับน้ำจะทำให้เกิดปฏิกิริยา มีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ เยื่อบุต่างๆ ของร่างกายที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบตา ตาบวม น้ำตาไหล เวียนหัว ตาลาย อาเจียน ระคายเคืองผิวหนัง แสบคันตามผิวหนัง เป็นแผลไหม้ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากทำให้แสบจมูก แสบคอได้ 

คร.ลงพื้นที่ค้นหาผู้ได้รับผลกระทบจาก แอมโมเนียรั่วจากโรงโรงงานน้ำแข็งบางละมุง

โดยอุบัติเหตุรั่วไหลของแอมโมเนียในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อุปกรณ์ชำรุด เช่น วาล์วรั่ว ท่อส่งก๊าซแตก เกิดความผิดพลาดระหว่างการจัดเก็บหรือขนย้ายสารแอมโมเนีย และขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง 

คร.ลงพื้นที่ค้นหาผู้ได้รับผลกระทบจาก แอมโมเนียรั่ว จากโรงโรงงานน้ำแข็งบางละมุง

วิธีป้องกันก๊าซ 'แอมโมเนียรั่ว'

สำหรับพนักงาน สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ 

  1. สวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลในการป้องกันตนเอง  
  2. หมั่นตรวจสอบบำรุงรักษาถัง/ท่อส่งก๊าซอย่างสม่ำเสมอ  
  3. จัดเก็บถังแอมโมเนียในพื้นที่ที่ปลอดภัย
  4. จัดทำแผนและซ้อมแผนการรับมือเหตุฉุกเฉิน กรณีเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 

 

 

สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่เกิดเหตุ สามารถปฏิบัติได้ดังนี้ 

  1. ต้องคอยสังเกตความผิดปกติ หากพบเห็นควันสีขาวจากโรงงาน รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที  
  2. หากเกิดเหตุให้รีบอพยพในทิศทางเหนือลม และออกจากพื้นที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด
  3. หากสารเข้าตาหรือโดนผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด และถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนแอมโมเนียออกทันที 
  4. หากพบผู้หมดสติให้รีบเคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัย อากาศถ่ายเทสะดวก และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที  
  5. โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอมากขึ้น หายใจมีเสียงหวีด และมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422