ข่าว

โรงแรมเล็กจ่อปลดพนักงาน เซ่น ขึ้นค่าแรง 400 บาท กระทบต้นทุนราคาห้องพักพุ่ง

โรงแรมเล็กจ่อปลดพนักงาน เซ่น ขึ้นค่าแรง 400 บาท กระทบต้นทุนราคาห้องพักพุ่ง

01 พ.ค. 2567

วันแรงงาน รัฐบาลประกาศ 'ขึ้นค่าแรง' 400 บาท กระทบโรงแรมขนาดเล็กจ่อปลดพนักงานช่วงโลว์ซีซัน คาดทำต้นทุนสูง ราคาห้องพักพุ่ง

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังรัฐบาล ยืนยันว่า วันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2567 นี้จะไม่มีปรับ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ แต่เป็นการประกาศเจตนารมย์ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภายในปี 2567 ซึ่งคาดว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2567 จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ โดยในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ว่าจะมีอาชีพไหน หรือจังหวัดใดปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำบ้าง 

 

ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศนั้นควรทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ตอนนี้สินค้าต่างๆ มีการปรับราคาขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำก็ควรปรับขึ้นในทุกจังหวัดเช่นเดียวกัน และจะมีการเจรจาทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการค่าจ้างฯ เพื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ในระดับเหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่ 400 บาท โดยเร็วที่สุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน 

 

โดยกระทรวงแรงงาน ได้พิจารณาดำเนินการขึ้นค่าแรงผ่านกลไกของคณะกรรมการไตรภาคี โดยจะดำเนินการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไปจนถึง 600 บาท ในปี 2570 ตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา 

ด้าน นายไพศาล สุขเจริญ นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ(ตอนบน) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาทในพื้นที่ 10 จังหวัดท่องเที่ยวของภาคธุรกิจโรงแรม 4 ดาว และ 5 ดาว ก็ได้มีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงไปแล้ว แต่หากหลังจากนี้มีการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทถ้วนหน้า โรงแรมขนาดใหญ่จะไม่มีผลกระทบมากนัก แต่สำหรับโรงแรมขนาดเล็ก ซึ่งโรงแรมขนาดเล็กนั้นมีฟิกคอสชัดเจนค่าแรงที่ประมาณ 350 บาท ซึ่งหากปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท ซึ่งถือว่ามีการปรับขึ้นกว่า 18% ก็จะทำให้ราคาต้นทุนห้องพักเพิ่มขึ้นมา ส่วนโรงแรมขนาดใหญ่นั้นค่าแรง 400 บาทพอรับได้ 

 

ซึ่งโรงแรมขนาดเล็ก หากปรับค่าแรงเป็น 400 บาทจากที่มีการพูดคุยประชุมที่ผ่านมาก็จะจะต้องมีการลดพนักงานลง ประมาณ 3-5 % จะทำให้มีพนักงานตกงานเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้อยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น หากจะมีการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท รัฐบาลจะต้องพิจารณาถึงการลดค่าของชีพ เช่น ระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะค่าไฟ ในช่วงฤดูร้อนแต่ละโรงแรมจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นจากค่าไฟ จำนวนมาก 

ขณะเดียวกันตามกฎที่หากใช้ไฟเกิน 20 หน่วยจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นนั้นก็ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และรัฐบาลจะต้องควบคุมเรื่องราคาน้ำมันให้ราคาหยุดนิ่ง ซึ่งหากมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันก็จะทำให้สินค้าบริโภคต่างๆ และ ข้าวสารอาหารแห้งวัตถุดิบในการปรุงอาหารต่างๆ มีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะไข่ไก่ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการโรงแรมทั้งนั้น ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท จะทำให้โรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 2,000 โรงแรมได้รับผลกระทบทั้งหมด เพราะจังหวัดเชียงใหม่ ขนาดใหญ่ระดับ 5 ดาวไม่ถึง 20 แห่ง