รอฝนก่อน เขื่อนป่าสัก เหลือน้ำ 15% หลังแล้งนาน วอนเกษตรกรชะลอการเพาะปลูก
สถานการณ์ภัยแล้ง เขื่อนป่าสักฯ เหลือน้ำอยู่เพียงร้อยละ 15 ของความจุ ขอเกษตรกรชะลอการเพาะปลูก จนกว่ากรมอุตุวิทยา จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝน
สถานการณ์ภัยแล้งฝนตกน้อย ฝนทิ้งช่วง ทำให้หลายพื้นที่ต้องประสบภัยแล้ง ไม่มีน้ำในการประกอบอาชีพทางการเกษตร บางพื้นที่ต้องมีมาตรการประหยัดน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ซึ่งล่าสุด ผู้สื่อข่าว ได้ลงพื้นที่ติดตามปริมาณน้ำ และข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำ ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ซึ่งหากมองด้วยตาเปล่า และภาพถ่ายจากมุมสูง เหนือประตูระบายน้ำ ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำ 1 ใน 4 เขื่อนหลัก ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะเห็นว่า ปริมาณน้ำที่เห็นนั้นน่าเป็นห่วง อย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล เนื่องจากระดับน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเที่ยบกับปี 2566 ที่ผ่านมา
โดยในช่วงฤดูฝนปี 2566 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สามารถเก็บกักน้ำ ได้ประมาณ 1,019 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 106 ของความจุอ่างฯ ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะเป็นน้ำต้นทุน เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ตลอดช่วงฤดูแล้งปี 2566 - 2567 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น กว่า 6 เดือน (1 พฤศจิกายน 2566 – 30 เมษายน 2567) รวมไปถึงเป็นน้ำต้นทุน เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน กรณีที่เกิดฝนทิ้งช่วงหรือฝนยังตกไม่สม่ำเสมอ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2567
ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ การเกษตร การอุตสาหกรรม และอื่นๆ รวมปริมาณน้ำทั้งสิ้นกว่า 800 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากมีการใช้น้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งสิ้นกว่า 6 เดือน ประกอบกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง จึงทำให้ปริมาณน้ำลดลงตามลำดับ
ขณะที่ นายชูพงศ์ อิศรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ประมาณ 148.40 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 15 ของความจุ โดยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังคงบริหารจัดการน้ำที่เหลืออยู่ในขณะนี้ ตามแผนที่กรมชลประทานกำหนด ซึ่งจะมีการปรับลดการระบายน้ำ จากเดิมวันละ 3.4 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้เหลือวันละ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะทำให้มีน้ำเพียงพอใช้ไปได้อีก 3-4 เดือน
เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศน์ เพื่อการอุปโภคบริโภค และบางส่วนพื้นเป็นการผลัดดันน้ำเค็ม และยังคงต้องขอความร่วมมือประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรช่วยกันประหยัดน้ำ และปลูกพื้นที่ใช้น้ำน้อย ส่วนพืชหลังที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก ต้องขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกไว้ก่อน รอจนกว่ากรมอุตุวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ เพื่อเก็บน้ำไว้สำหรับอุปโภค บริโภค และเพื่อความเสี่ยง ต่อความเสียหาย ในพื้นที่การเกษตรที่จะขาดน้ำ และส่งผลเสียต่อผลผลิตทางการเกษตร
ส่วนกรณี หากเกิดภาวะช่วงฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานจากนี้ไป หรือไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทางกรมชลประทาน ได้มีข้อตกลงและมีแผนประสานความร่วมมือกับ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรไว้อยู่แล้วเป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยเหลือปฏิบัติการทำฝนหลวง ให้ตกในพื้นที่ของเกษตรกร และเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนป่าสักฯ อีกด้วย