'เกษตรกร' ปลื้ม ธกส. ส่งดูงาน 'ไม้ดอก' ที่เนเธอร์แลนด์ นำกลับมาพัฒนา
ธ.ก.ส.เติมเต็มองค์ความรู้ให้เกษตรกรหัวขบวนจัดดูงานด้านไม้ดอก ที่เนเธอร์แลนด์ หวังนำความรู้ที่ได้มาถ่ายถอดทอดสู่สมาชิกในเครือข่าย รองผู้จัดการธ.ก.ส.ระบุหวังสร้างแรงบันดายใจให้พี่น้องเกษตรกรพัฒนาคุณภาพการผลิตและผลิตภัณฑ์
นายนัฐวุฒิ เนตรประไพ เกษตรกรหัวขบวนแห่งเอ็น.พี.พี. ออร์คิด ผู้ผลิตและจำหน่ายกล้วยไม้ตัดดอก ภายใต้แบรนด์ เอ็น.พี.พี. ออร์คิด หนุ่มอนาคตไกล ผู้สร้างเนื้อสร้างตัวจากกล้วยไม้ โดยการเริ่มต้นปลูกแค่ 4 ไร่ ต่อมาได้ขยับขยายพื้นที่ เป็น 40 ไร่ ในท้องที่ ม.7 ต.บ้านใหม่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ที่เน้นปลูกกล้วยไม้สกุลหวายตัดดอกส่งออกตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหลักอยู่ที่ประเทศจีน และปัจจุบันยังรั้งประธานเกษตรแปลงใหญ่กล้วยไม้ จ.นนทบุรี มีพื้นที่ดำเนินการกว่า 600 ไร่ มีสมาชิกในเครือข่าย 38 ราย
"ที่ประทับใจ คือตลาดประมูลไม้ดอกอัลซเมียร์ ระบบที่นี่ดีมาก ไม่มีมือโดนดอกไม้สักดอก ดอกไม้ทุกดอกจะติดบาร์โค้ต รู้แหล่งที่มา รวมถึงระบบโลจิสติกดีมากด้วย ถ้าตลาดไม้ดอกบ้านเราต้องพัฒนาไปจุดนี้ได้ทุกอย่างจะเพอร์เฟค เพราะวิชาความรู้การปลูกทุกอย่างเกษตรกรบ้านเราค่อนข้างแน่นอยู่แล้ว"
ขณะที่ นางสาวนภัสวรรณ เมณะสินธุ์ เกษตรกรหัวขบวนตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านตาติด ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ผลิตและจำหน่ายเบญจมาศตัดดอกรายใหญ่ในพื้นที่อีสานใต้ เผยว่ารู้สึกดีใจที่มีโอกาสได้ร่วมเดินทางมาดูงานด้านไม้ดอกที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในครั้งนี้ โดยคิดว่าจะนำความรู้ที่ได้จากการดูงานครัง้นี้ไปปรับใช้กับกลุ่มได้อย่างแน่นอน
" ดูงานครั้งนี้น่าจะนำความรู้ไปปรับเปลี่ยนได้หลายอย่าง แต่บางอย่างรู้สึกเอ๊ะ เราจะเอาไปปรับได้ไม๊ เช่นปลูกในโรงเรือนและระบบเรือนกระจก ของเรามาดูว่าอะไรที่เราสามารถเอาไปปรับใช้ได้บ้าง ยังได้แอบถามเขาว่ารับดูแลกลุ่มเกษตรกรต่างชาติไม๊ เขาบอกว่าจะรับเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ชุมชนของเขา" นางสาวนภัสวรรณเผย
ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตดอกเบญจมาศบ้านตาติด เป็นกลุ่มปลูกเบญจมาศตัดดอกใหญ่ที่สุดในพื้นที่อีสานตอนใต้ มีสมาชิกในเครือข่าย 41 ราย รวมพื้นที่ปลูกกว่า 300 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี โดยมีสายพันธุ์เด่นคือเหลืองอุบล สนนในราคากิโลกรัมละ 80-120 บาท
นายยงยุทธ เลารุจจิราลัย บอสใหญ่เดอะ ฟิกเนเจอร์ การ์เด้น ในต.ธาตุทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี ผู่ผลิตและจำหน่ายมะเดื่อฝรั่งส่งห้างโมเดิร์นเทรดฟหลายแห่งในภาคตะวันออก เกษตรกรหัวขบวนอีกรายที่มีโอกาสมาดูงานครั้งนี้ยอมรับว่า แต่ละแห่งที่ไปดูมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ก็จะพยายามนำแนวคิด ไอเดียดี ๆ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของแต่ละที่ไปปรับประยุกต์กับแปลงปลูกมะเดื่อฝรั่งของตนเองและสมาชิกในเครือข่าย
" จุดเด่นเรื่องแนวคิดการจัดบริหารจัดการ ระบบการทำงานเป็นทีม ที่เราใช้อยู่ปัจจุบันปลูกในระบบโรงเรือนแต่ถ้าจะใช้ระบบเรือนกระจกก็ต้องมาดูในเรื่องต้นทุนด้วยว่าจะคุ้มไม๊ แต่อย่างน้อยก็ได้ไอเดียเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย รวมถึงเห็นความเข้มแข็งของภาคเอกชนที่ร่วมมือกัน"
ด้านนายทัพพ์ธนพนธ์ สภาพันธ์ เกษตรกรหัวขบวนแห่ง พี เจ ริช อินเตอร์ กรุ๊ป ผู้ผลิตและจำหน่ายพืชผัก ผลไม้และกล้วยหอมทองส่งห้างโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ภาคใต้ตอนล่าง กล่าวถึงการมาดูงานครั้งนี้คิดว่าการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมที่จะเอาชนะภัยธรรมชาติได้ เพราะกล้วยไม่มีฤดูกาล แต่ปัญหาของกล้วยตอนนี้ต้องเจอลมมรสุม วิธีการแก้ปัญหาตอนนี้ปลูกพืชกันลมทางธรรมชาติ ต่อไปจะพัฒนาปลูกในโรงเรือนขนาดใหญ่ได้หรือไม่ต้องมาพิจารณาอีกที
" เกษตรกรบ้านเขาจะมองภาครวมเป็นหลักไม่มองปัจเจกบุคคลเหมือนบ้านเรา เขาร่วมกันคิดร่วมกันทำร่วมกันแบ่งปันประโยชน์อันนี้น่าสนใจมากครับ บ้านเราถ้าใครให้ราคาสูงกว่าไม่อยู่แล้ว อยากให้มาแข่งเรื่องคุณภาพมากกว่าราคา ถ้าเราซื่อสัตย์จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนมั่นคง ครับ" นายทัพพ์ธนพนธ์กล่าว พร้อมขอบคุณธ.ก.สที่เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องเงินทุนหมุนเวียน โดยที่ผ่านมาได้กู้เงินธ.ก.ส.จำนวน 2.5 ล้านบาท ในโครงการล้านละร้อย ทำให้ได้ขยายวอนลุ่มปริมาณการรับซื้อผลผลิตกล้วยหอมทองเพิ่ม
โดยปัจจุบันรับซื้อเฉลี่ยวันละ 30 ตันเพื่อส่งเซเว่นฯและโมเดิร์นเทรดในสาขาภาคใต้เกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับเกษตรกรหัวขบวนอย่าง นางสาวสุรีรัตน์ สิงห์รักษ์หรืออิ่ม เจ้าของ ไร่กาแฟลองเลย และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนลองเลย ในต.นาบอน อ.นาแห้ว จ.เลย เกษตรกรหัวขบวน ผู้จุดประกายความคิดจาก‘โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามแนวพระราชดำริ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มุ่งเน้นฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารที่ถูกทำลาย
โดยดำเนินการไปพร้อมกันทั้งด้านการสร้างแรงจูงใจให้แก่ประชาชนร่วมฟื้นฟูป่า เป็นผู้รักษาป่าและอยู่กับป่าอย่างกลมกลืนแบบมีส่วนร่วม พยายามเปลี่ยนภูเขาหัวโล้นเป็นภูเขาต้นไม้ โดยใช้กาแฟเป็นตัวยืนยันสร้างรายได้จากป่าเพื่อไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าและมีรายได้ที่มั่นคงยั่งยืน
" อิ่มไม่เคยคิดว่าเราจะได้มาไกลถึงยุโรป มาถึงเนเธอร์แลนด์ วันนี้ได้มาเห็นอะไรดี ๆ เราคืออนาคตของชุมชน อนาคตของโลกใช้ชีวิตทำธุรกิจส่งต่อให้คนข้างหลังมีอนาคตที่ยั่งยืน ลองเลยคือโอกาสที่ทุกท่านให้กับเรา ลองในภาษาอังกฤษคือยาวนาน ยั่งยืน เลยคือจังหวัด ลองเลยคือโอกาสที่ทุกท่านหยิบยื่นให้กับพวกเรา"
ด้านนายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือธ.ก.ส.) กล่าวถึงภารกิจในการนำเกษตรกรหัวขบวนจากทั่วประเทศมาศึกษาดูงานด้านไม้ดอกที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในครั้งนี้โดยระบุว่า ต้องการสร้างแรงบันดานใจให้พี่น้องเกษตรกรหัวขบวนที่เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ มีความคิดก้าวหน้า ได้มาเห็นกระบวนการจัดการในทุกขั้นตอนการผลิต ที่เป็นประโยชน์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้
อย่างที่เราเห็นตลาดประมูลไม้ดอกจะมีดอกไม้ทุกชนิดทุกประเภทจากทั่วทุกมุมโลกมารวมกันที่นี่เพื่อส่งต่อไปยังผู้บริโภคปลายทาง ทำให้เกิดคุณค่าเราจะเห็นได้ว่าระบบของเขาดีการจัดการได้หมด ฉะนั้นเกษตรกรลูกค้าธ.ก.ส.เอง ผมมองว่าได้มาเห็นสิ่งเหล่านี้มันเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำให้พัฒนาตั้งแต่คุณภาพผลผลิต สินค้าและผลิตภัณฑ์ ผมคิดว่าวันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ยากเลย ถ้ามีการจัดการที่ดี นี่คือสิ่งที่ธกส. อยากได้ นอกจากการปล่อยสินเชื่อเงินกู้”รองผู้จัดการธ.ก.ส.กล่าวทิ้งท้าย