ข่าว

จับตา "โอไมครอน" สายพันธุ์ใหม่ ไทยป่วยแล้ว 13 ราย ยังไม่พบความรุนแรง

จับตา "โอไมครอน" สายพันธุ์ใหม่ ไทยป่วยแล้ว 13 ราย ยังไม่พบความรุนแรง

10 พ.ค. 2567

"โควิด19" ในไทยยังไม่จบ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ "โอไมครอน" สายพันธุ์ใหม่ ไทยพบป่วยแล้ว 13 ราย ยังไม่พบความรุนแรง

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์สายพันธุ์ "โควิด19" ว่า สายพันธุ์ "โอไมครอน" ในประเทศไทย ยังคงพบ JN.1 และลูกหลาน เป็นสายพันธุ์หลัก ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อยของ JN.1 หลายชนิด โดยแตกต่างกันที่ตำแหน่งกลายพันธุ์บนส่วนโปรตีนหนามของไวรัส เช่น R346T, F456L, R346T+F456L (FLiRT) รวมถึง F456L+Q493E เป็นต้น ซึ่งช่วยให้ไวรัสมีความสามารถในการก่อโรค การหลบภูมิคุ้มกัน ตลอดจนการแพร่กระจายเชื้อแตกต่างกันไป สำหรับสายพันธุ์ JN.1 (BA.2.86.1.1*) เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.86* มีการเติบโตและแพร่กระจายได้เร็ว จนกลายเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลกกว่า 116 ประเทศ

 

 

นอกจากนี้ พบสายพันธุ์ย่อยใหม่ของ JN.1* โดยคาดการณ์ว่ามีความได้เปรียบในการเติบโตมากกว่าสองเท่าหรือมากกว่า ได้แก่ KP.2, KP.3, KS.1, KP.1.1 ซึ่งประเทศไทยพบ KP.2 และลูกหลานแล้ว จำนวน 9 ราย ในเขตสุขภาพที่ 8, 10 และ 13 ส่วน KP.3 พบจำนวน 4 ราย ในเขตสุขภาพที่ 4 และ 13 จากจำนวน JN.1 และลูกหลาน ที่พบทั้งหมด 503 ราย คิดเป็นสัดส่วน KP.2 และลูกหลาน 1.79% และ KP.3 0.79%

 

นอกจากนี้ พบสายพันธุ์ โอไมครอนลูกผสม ระหว่าง JN.1 กับสายพันธุ์อื่นจำนวน 2 ราย ได้แก่ XDK 1 ราย และ XDR 1 ราย ในเขตสุขภาพที่ 1 และ 11 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงความรุนแรง หรือการเพิ่มความสามารถในการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์ลูกผสมนี้

 

 

"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง โดยรวบรวมตัวอย่างผลบวกเชื้อก่อ โรคโควิด 19 จากการทดสอบ ATK หรือ Real-time RT-PCR จากทั่วประเทศ ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและเผยแพร่ผ่านฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ การเฝ้าระวังติดตามสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศอย่างเป็นปัจจุบัน ช่วยส่งเสริมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการรับมือกับการระบาดในอนาคต ทั้งนี้ ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังเป็นไปตามคาดการณ์ เนื่องจาก โรคโควิด 19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี  

 

ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมีความตระหนัก แต่ไม่ตระหนก มีการป้องกันตนเองตามมาตรการสาธารณสุข สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หรือที่มีการรวมตัวกลุ่มคนจำนวนมาก ล้างมือบ่อยๆ ยังใช้ได้กับทุกสายพันธุ์ สำหรับอาการและความรุนแรง มักขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพโดยรวมของบุคคลมากกว่าชนิดสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ" นพ.ยงยศ กล่าว