ข่าว

พิธีรับมอบ "Golden Boy" - "สตรีพนมมือ" ถือเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน

พิธีรับมอบ "Golden Boy" - "สตรีพนมมือ" ถือเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน

21 พ.ค. 2567

พิธีรับมอบ "Golden Boy" - "สตรีพนมมือ" จาก พิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Metropolitan Museum of Art ถือเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ

วันนี้ (21 พ.ค. 2567) น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีรับมอบ โบราณวัตถุ ประติมากรรมสําริดรูปพระศิวะ หรือที่รู้จักในนาม "Golden Boy" และประติมากรรมรูป "สตรีพนมมือ" จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

 

 

น.ส.สุดาวรรณ รมว.วธ. กล่าวว่า โบราณวัตถุ ที่ประเทศไทยได้รับคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา ครั้งนี้ ถือเป็นสมบัติของประชาชนชาวไทยทุกคน เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนประเทศไทยในอดีตเมื่อกว่าพันปี จัดเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจ

 

โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2566 กรมศิลปากร ได้รับการประสานจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน สหรัฐอเมริกา ว่ามีความประสงค์ส่งมอบโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ คืนให้กับประเทศไทย ประกอบด้วย ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ "The Standing Shiva" หรือ ที่รู้จักกันในนาม โกลเด้นบอย "Golden Boy" และประติมากรรมรูป "สตรีพนมมือ" (The Kneeling Female) เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันพบว่า โบราณวัตถุดังกล่าว ถูกลักลอบนำออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย จึงได้ถอดโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ ออกจากบัญชีของพิพิธภัณฑ์ และประสานขอส่งคืนให้ประเทศไทย กระทั่งพิพิธภัณฑ์ได้ส่งโบราณวัตถุกลับคืนถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

 

Golden Boy

 

ด้าน นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า โบราณวัตถุ ที่ได้รับมอบคืนมานี้เป็นโบราณวัตถุที่มีความสำคัญ แสดงถึงร่องรอยหลักฐานความรุ่งเรืองของการหล่อโลหะสัมฤทธิ์ในดินแดนที่ราบสูงโคราช อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือมีอายุราวเกือบ 1,000 ปีมาแล้ว ถือเป็นประติมากรรมรูปบุรุษสวมเครื่องทรงแบบบุคคลชั้นสูงและเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ซึ่งพบไม่มากนัก มีเทคนิคการสร้างแบบพิเศษ คือหล่อด้วยสัมฤทธิ์และกะไหล่ทอง ส่วนประติมากรรมสตรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เช่นกัน อยู่ในท่านั่งชันเข่าและยกมือไหว้เหนือศีรษะ แต่งกายแบบบุคคลชั้นสูง หล่อด้วยสัมฤทธิ์มีร่องรอยการประดับด้วยโลหะเงินและทอง 

 

ขณะที่ นาย John Guy ภัณฑารักษ์ แผนกศิลปะเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน นครนิวยอร์ก กล่าวว่าการส่งมอบ โบราณวัตถุ คืนให้แก่ประเทศไทยในวันนี้ รวมไปถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทโพลิทันและกรมศิลปากรเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดความร่วมมือจากการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องของทั้งสองฝ่าย

 

ซึ่งการส่งมอบ โบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ กลับคืนสู่ประเทศไทย สืบเนื่องจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันตรวจสอบข้อมูลแล้วยืนยันว่า โบราณวัตถุ ดังกล่าวเป็นของราชอาณาจักรไทยโดยสิทธิอันชอบธรรมการส่ง เพื่อแสดงถึงการที่เดอะเม็ทให้ความสำคัญกับที่มาอันถูกต้องของโบราณวัตถุในครอบครอง

 

 

Golden Boy

 

 

สําหรับ ประติมากรรมมสำริดรูปพระศิวะ องค์นี้มีความโดดเด่นในแง่ของคุณภาพของและความประณีต รวมถึงการตกแต่งด้วยการกะไหล่ทองซึ่งยังคงอยู่แม้ผ่านมานับพันปี โดยประติมากรรมทั้งสองชิ้นหล่อด้วยกระบวนการสูญขี้ผึ้ง มีแกนเหล็กที่ยื่นออกมาจากส่วนมงกุฎถึงเท้า

 

เมื่อตรวจสอบพระพักตร์ของทั้งพระศิวะและสตรีนั่งชันเข่าโดยละเอียด พบว่าทั้งสององค์มีการตกแต่งด้วยการฝังแก้ว หินผลึก และโลหะที่แตกต่างกัน คือทองคำและเงิน พระเนตรของพระศิวะล้อมด้วยเงิน และพระเนตรดำอาจเคยมีหินคริสตัลฝังอยู่ หนวดและเคราก็มี ร่องรอยการประดับตกแต่งด้วยการฝังวัตถุเช่นเดียวกัน โดยประติมากรรมทั้งสองชิ้นนี้ติดตั้งอยู่บนแท่นหินในเทวสถาน ที่สร้างด้วยศิลาแลงหรืออิฐ สว่างไสวด้วยตะเกียงน้ำมันทําให้ประติมากรรมทั้งสองนี้จึงมีอำนาจและสง่างามน่าหลงใหล

 

 

สตรีพนมมือ

 

 

ทั้งนี้ทาง กรมศิลปากร จะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าชมความงามของโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ขุดพบจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับประติมากรรมโกลเด้นบอย จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย มาจัดแสดงร่วมกัน ณ ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป