ข่าว

'กรมศิลปากร' สำรวจพบ 'แหล่งโบราณคดี' แห่งใหม่ 'ถ้ำเขาค้อม' อายุกว่า 3,000 ปี

'กรมศิลปากร' สำรวจพบ 'แหล่งโบราณคดี' แห่งใหม่ 'ถ้ำเขาค้อม' อายุกว่า 3,000 ปี

23 พ.ค. 2567

'กรมศิลปากร' สำรวจพบ 'แหล่งโบราณคดีแห่งใหม่' ถ้ำเขาค้อม อายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี ชี้เป็นที่อยู่อาศัยของ 'ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์' ที่สำคัญของไทย

ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ที่พบในถ้ำเขาค้อ

 

วันที่23พ.ค.2567 นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดี กรมศิลปากร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมีการสำรวจพบชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ภายใน ถ้ำเขาค้อม หมู่ 10 ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัด สตูล จึงมอบหมายให้  สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ลงพื้นที่ตรวจสอบ

 

ขณะนี้ได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2567 พบว่า ถ้ำเขาค้อม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาหินปูนลูกโดด บริเวณริมอ่างเก็บน้ำด้านหลังของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล 

จากการสำรวจทางโบราณคดี พบหลักฐานที่สำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์  ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ เปลือกหอยน้ำจืดและเปลือกหอยทะเล เป็นต้น

 

ผลจากการศึกษาวิเคราะห์โบราณวัตถุในเบื้องต้น กำหนดให้ ถ้ำเขาค้อม เป็น แหล่งโบราณคดี ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่ กำหนดอายุราว 3,000 – 6,000 ปี มาแล้ว

อ้างอิงผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีเพิงผาปาโต๊ะโร๊ะ อำเภอควนโดน จังหวัด สตูล เมื่อปี 2553 ซึ่งพบโครงกระดูกยุคก่อนประวัติศาสตร์ กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ราว 3,000 ปีมาแล้ว

 

ผลจากการดำเนินงานทางด้านโบราณคดีที่ผ่านมา พบแหล่งโบราณคดี ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นพื้นที่จังหวัด สตูล เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย

 

โดยสำรวจพบ แหล่งโบราณคดี อย่างน้อย 46 แหล่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพื่อประกาศรายชื่อให้ครอบคลุมทั้งหมด

 

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า กรมศิลปากร ขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมกันปกป้องคุ้มครองและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้และท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

 

การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีของ กรมศิลปากร และการพัฒนางานวิชาการต่อไปในอนาคต