ข่าว

ภาคีเกษตรยาสูบยื่น 4 ข้อ รมช.คลัง เร่งปราบบุหรี่เถื่อน

ภาคีเกษตรยาสูบยื่น 4 ข้อ รมช.คลัง เร่งปราบบุหรี่เถื่อน

31 พ.ค. 2567

ภาคีเกษตรยาสูบเคลื่อนขบวนร้อง รมช.คลังปราบบุหรี่เถื่อนหลังเข้าขั้นวิกฤตพุ่งทะลุ 25% ตัวแทนอุตสาหกรรมยาสูบยื่น 4 ข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีช่วยคลัง

สมาคมการค้ายาสูบไทย ภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ การยาสูบแห่งประเทศไทย ร่วมกันยื่นหนังสือแก่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่กำกับดูแล 3 กรมภาษี ที่เกี่ยวข้อง

 

โดยตรงกับการจัดเก็บรายได้ภาษีอากรจากสินค้าประเภทยาสูบ และปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่เถื่อน ซึ่งมีสัดส่วนการบริโภคในประเทศไทยสูงถึง 25.5% ในไตรมาสที่ 1 ปีพ.ศ. 2567

ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตในช่วงครึ่งปีงบประมาณของสินค้าประเภทนี้ยังไม่เป็นไปตามเป้า กระทบถึงเศรษฐกิจไทยในภาพรวมกว่า 30,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังขอให้ กรมสรรพสามิต รวมถึงกรมศุลกากรต้องลงพื้นที่ปราบปรามบังคับใช้กฎหมายกับการลักลอบนำเข้าอย่างต่อเนื่อง

ภาคีเกษตรยาสูบยื่น 4 ข้อ รมช.คลัง เร่งปราบบุหรี่เถื่อน

โดยผู้แทนจากทั้ง 3 ฝ่ายของอุตสาหกรรมยาสูบจำนวน 20 คน ได้ประกาศข้อเรียกร้อง 4 ประการ ซึ่งเป็นผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการต่อต้านบุหรี่ผิดกฎหมาย ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณากำหนดแนวทางการยกระดับและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้าบุหรี่ผิดกฎหมายให้เป็นวาระแห่งชาติ ดังนี้

1. ยกระดับมาตรการสกัดกั้นและป้องกันการลักลอบบุหรี่ผิดกฎหมายตามเขตชายแดนทั้งบกและทะเล ขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมจัดสรรงบประมาณและอุปกรณ์แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ

2. ยกระดับการปราบปรามขบวนการค้าบุหรี่ผิดกฎหมาย มุ่งเป้าไปที่เครือข่ายรายใหญ่และผู้มีอิทธิพลเบื้องหลัง ขยายผลไปยังแหล่งพักสินค้า เส้นทางขนส่งตลอดจนเส้นทางการเงินของเครือข่ายผู้กระทำผิด รวมถึงสินค้าผ่านแดน

 

 

3. ยกระดับปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายกับหน้าร้านบุหรี่เถื่อน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงร้านค้าออนไลน์ที่มีการโฆษณาสรรพคุณดึงดูดผู้ซื้ออย่างโจ่งแจ้ง จัดส่งผ่านระบบไปรษณีย์ ทำให้บุหรี่เถื่อนกระจายไปในวงกว้างด้วยความรวดเร็ว

4. เร่งรัดให้กรมสรรพสามิตทบทวนและเสนอแก้ไขอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลงเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันการหันไปหาสินค้าทดแทนที่มีราคาถูก และไม่ช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ตามเป้าหมายทางสาธารณสุข

 

นายอรุณ โปธิตา ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบจากจังหวัดเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า บุหรี่เถื่อนเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวไร่ยาสูบต้องดิ้นรนกับความทุกข์ยากในการประกอบอาชีพทุกวันนี้ เนื่องจากไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าการยาสูบแห่งประเทศไทยที่เป็นผู้รับซื้อหลักจะมีความต้องการใบยาต่อไปในอนาคต ด้วยธุรกิจหลักในการผลิตบุหรี่หดหายไปมากจากพิษบุหรี่เถื่อน นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบยังขอให้กระทรวงการคลังช่วยติดตามเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตฤดูกาลปลูก 66/67 ที่ขอจากงบกลาง ซึ่งผ่านการอนุมัติจากการยาสูบฯ แล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบ และยังไม่มีมติจากค.ร.ม. ตอนนี้ใกล้หมดฤดูกาลปลูกแล้ว จึงอยากทราบกรอบเวลาที่แน่ชัดจากรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกร

 

ขณะที่ นายสุเทพ ทิมศิลป์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ กล่าวเสริมในมุมมองของพนักงานของผู้ประกอบการว่า หากดูผลประกอบการของการยาสูบฯ จะพบว่ากำไรลดลงจากระดับหลายพันล้าน เหลือแค่ 200 กว่าล้านในปีที่ผ่านมาหรือลดลงกว่าร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปรับโครงสร้างภาษีเป็น 2 อัตรา นั่นหมายความว่าเราส่งเงินเข้ารัฐน้อยลงด้วย จึงอยากขอให้กระทรวงการคลังดูแลทบทวนนโยบายโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ เพื่อให้ราคาบุหรี่ถูกกฏหมายไม่สวนทางกับกำลังซื้อของผู้บริโภคเช่นปัจจุบัน เป็นสาเหตุให้เกิดช่องว่างจนบุหรี่เถื่อนเข้ามาตีตลาด การดูแลนโยบายภาษีให้มีความเป็นธรรม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ จะเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนอย่างยั่งยืน

 

ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ลงมารับหนังสือและรับฟังปัญหาจากตัวแทนอุตสาหกรรมยาสูบด้วยตนเอง กล่าวว่า จะช่วยติดตามเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิตของชาวไร่ยาสูบให้ นอกจากนี้ตนจะนำเรื่องปัญหาบุหรี่เถื่อนและประเด็นที่เกี่ยวข้องเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการมอบนโยบายแก่หน่วยงานภายใต้การรับผิดชอบของตน ซึ่งจะเข้าไปพบแต่ละหน่วยงานในวันที่ 30 พ.ค. นี้ สำหรับภาษีสรรพสามิตบุหรี่นั้นยังคงต้องศึกษาให้ถี่ถ้วนต่อไป

ทั้งนี้ ตัวแทนของอุตสาหกรรมยาสูบจะเดินทางเข้ายื่นหนังสือกับคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศที่มีนายรังสิมันต์ โรม เป็นประธาน ที่รัฐสภาต่อไป ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 เพื่อเน้นย้ำข้อเรียกร้องการขยายกรอบการทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านในการปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ