ฤดู เห็ดพิษ 5 เดือนพบผู้ป่วย 479 ราย แนะ วิธีดูเห็ดพิษ เจอคล้ายกันห้ามเก็บกิน
เตือนภัย เห็ดพิษ ควบคุมโรคเผย พบผู้ป้วยหลังกินเห็ดพิษ 5 เดือน 479 ราย ใน 4 จังหวัด แนะ วิธีดูเห็ดพิษ เจอคล้ายกันห้ามเก็บกิน
6 มิถุนายน 2567 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า "ช่วงนี้มีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ ซึ่งเมื่อเห็ดอยู่ในระยะดอกตูมจะมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก จนอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด นำมาปรุงอาหารรับประทานแล้วเกิดอาการป่วย
เห็ดพิษที่ทำให้เสียชีวิต
โดยเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ จะมี "เห็ดระโงกพิษ" หรือบางที่เรียกว่า "เห็ดระโงกหิน" หรือ "เห็ดระงาก" หรือ "เห็ดไข่ตายซาก" ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับ "เห็ดระโงกขาว" ที่กินได้ โดยเห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน
นอกจากนี้ ยังมี "เห็ดถ่านเลือด" ที่มีลักษณะคล้ายกับ "เห็ดถ่านเล็ก" ที่กินได้ ต่างกันตรงที่เห็ดถ่านเลือดจะมีขนาดดอกจะเล็กกว่า ไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม
ส่วน "เห็ดเมือกไครเหลือง" ที่มีพิษ ประชาชนมักสับสนกับ "เห็ดขิง" ซึ่ง "เห็ดเมือกไครเหลือง" จะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า และยังมี "เห็ดหมวกจีน" ที่เป็นเห็ดพิษ แต่จะมีความคล้ายกับ "เห็ดโคน" ที่กินได้ เป็นต้น
ผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ
ซึ่งสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 5 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ จำนวน 479 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
และในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 5 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ จำนวน 30 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 ที่พบผู้ป่วยมากสุดคือ
- บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 11 ราย
- ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 9 ราย
- สุรินทร์ มีผู้ป่วย 9 ราย
- นครราชสีมา มีผู้ป่วย 1 ราย
ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ
- กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป
- กลุ่มอายุ 0-4 ปี
- กลุ่มอายุ 55 - 64 ปี
วิธีดูเห็ดพิษ
ประชาชนจึงต้องใส่ใจและเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น เมื่อจะนำเห็ดชนิดต่างๆ มาประกอบอาหารรับประทาน ซึ่งวิธีทดสอบความเป็นพิษของเห็ดตามภูมิปัญญาชาวบ้าน จะใช้วิธีทดสอบด้วยการต้มเห็ดกับข้าวหรือหอมแดง ถ้าเป็นเห็ดพิษข้าวจะเปลี่ยนสี ส่วนวิธีการทดสอบด้วยการจุ่มช้อนเงิน หรือตะเกียบเงิน หรือเครื่องเงินลงในน้ำแช่เห็ด ถ้ามีพิษเครื่องเงินจะเป็นสีดำนั้น การทดสอบด้วยวิธีนี้ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษ จะมีสารที่ทนต่อความร้อนแม้จะนำมาทำให้สุกแล้ว ก็ไม่สามารถทำลายพิษได้
ดังนั้น ถ้าหากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร แต่ควรเลือกเห็ดจากแหล่งที่มีการเพาะขยายพันธุ์เพื่อความปลอดภัย เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการกินเห็ด
หากรับประทานเห็ดแล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว เวียนศีรษะให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกวิธี หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422