ปูดงบ กทม. จัดซื้อ เครื่องออกกำลังกาย ลู่วิ่ง 7.5 แสน รวม 7 โครงการ ฟาด 103.2 ล้าน
ชมรมต้านทุจริต เปิดงบ กทม. จัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ราคาลู่วิ่งฟาด 7.5 แสน ที่เดียวซื้อเฉียด 5 ล้าน รวมงบโครงการซื้อเน้นๆ 103.2 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.67 เพจเฟซบุ๊ก "ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย" ได้โพสต์เนื้อหา การจัดชื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายในสวนสาธารณะ โดยมีเนื้อหาใจความว่า กทม จัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย เครื่องละ 4 แสน เครือข่าย STRONG ต้านทุจริตประเทศไทยพบเห็นความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ส่อแพงจริงภายใน ศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ และ ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ - Wachirabenchathat รวมกัน 2 ที่เกือบ 10 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็นที่ศูนย์วารีภิรมย์ 4,999,990 บาท จัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย 11 รายการ ดังนี้
1.อุปกรณ์ลู่วิ่งไฟฟ้า 1 เครื่อง 759,000 บาท
2.จักรยานนั่งเอนปั่นแบบมีผนักพิง 1 เครื่อง 483,000 บาท
3.จักรยานนั่งปั่นแบบนั่งตรง 2 เครื่อง เครื่องละ 451,000 บาท
4.อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อต้นแขนด้านหน้า 1 เครื่อง 466,000 บาท
5.อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อขาด้านหน้าและขาด้านหลัง 1 เครื่อง 477,500 บาท
6.อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้อห้วงไหล่ อก และหลังแขน 1 เครื่อง 483,000 บาท
7.อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้ออเนกประสงค์ 1 เครื่อง 652,000 บาท
8.ชุดดัมเบลพร้อมชั้นวาง 1 เครื่อง 276,000 บาท
9.อุปกรณ์บาร์โหนฝึกกล้ามเนื้ออเนกประสงค์ 1 เครื่อง 302,490 บาท
10.เก้าอี้ฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้อง 1 เครื่อง 103,000 บาท
11.เก้าอี้ฝึกตัมเบลดัมเบลแบบปรับระดับได้ 1 เครื่อง 96,000 บาท
และอีกที่คือ ศูนย์วชิรเบญจทัศ 4,998,800 บาท 11 รายการ ราคาสูงผิดปกติเช่นกัน รายการเครื่องออกกำลังกายต่างๆ ที่ กทม.จัดซื้อ เมื่อเทียบกับราคาตลาดแล้ว ราคาช่างแตกต่างกันสูงมาก เช่น เก้าอี้ฝึกดัมเบลแบบปรับระดับได้ ราคาตลาดเกรดดี ไม่เกิน 3 หมื่นบาท แต่ กทม.จัดซื้อ 96,000 บาท งานนี้ส่วนต่างเพียบ
เมื่อลองขุดลึกๆ ลงไปอีกพบว่า เฉพาะ ปี 2567 กทม. จัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องออกกำลังกาย กว่า 9 โครงการ ด้วยงบประมาณกว่า 77.73 ล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่อแพงเกินจริงเหล่านี้ ทำให้รัฐสูญเสียเงินไปอย่างสิ้นเปลือง ต้องตรวจแบบเข้มๆ อย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ เครือข่าย STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย เปิดประเด็นความผิดปกติการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ ส่อแพงเกินจริงนั้น ล่าสุดทีม STRONG สืบเสาะข้อมูลพบว่ายังมีอีก 7 โครงการ คือที่
- ศูนย์มิตรไมตรี 11 ล้านบาท
- ศูนย์อ่อนนุช 15.6 ล้านบาท
- ศูนย์วัดดอกไม้ 11.5 ล้านบาท
- ศูนย์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 12.1 ล้านบาท
- ศูนย์นันทนาการ สังกัดสำนักนันทนาการ 17.9 ล้านบาท
- ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) 11.1 ล้านบาท
- ครุภัณฑ์เสริมสร้างสมรรถภาพผู้สูงอายุ 24 ล้าน
รวมเป็นงบกว่า 103.2 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจดูเอกสารเบื้องต้นพบว่า ราคาสูงผิดปกติ และมีแค่ 2-3 บริษัท เดิมๆเท่านั้นที่ผลัดกันได้งาน งานนี้ สตง. ป.ป.ช. และหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจต้องตรวจเข้มๆ