ข่าว

สรุป "ไฟไหม้จตุจักร" สัตว์เลี้ยงตาย 5.3 พันตัว "ชัชชาติ" สั่งปิดตลาดศรีสมรัตน์

สรุปเหตุ "ไฟไหม้จตุจักร" สัตว์เลี้ยงตาย 5.3 พันตัว "ชัชชาติ" สั่งปิดตลาดศรีสมรัตน์ เผย หากจะเปิดใหม่ การรถไฟฯ ต้องขออนุญาตก่อน ยอมรับวัวหายล้อมคอก แต่ดีกว่าไม่ทำอะไร

12 มิ.ย. 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช, นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร, นายสัตวแพทย์ บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์, น.ส.ฎายิน เพชรรัตน์ มูลนิธิ sos animal thailand และ นายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย แถลงข่าวคืบหน้าการตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้ตลาดศรีสมรัตน์

นายชัชชาติ ระบุว่า กทม.รับแจ้งเหตุช่วง 4.08 น. ใช้เวลาควบคุมเพลิงจนสงบในเวลา 4.37 น. เมื่อเข้าไปตรวจสอบพบว่า ส่วนใหญ่สัตว์ตายอยู่ในกรงเกือบทั้งหมด อุปสรรคของการดับเพลิง คือ ไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะทุกห้องมีการล็อคไว้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ น้องๆ หนีเองไม่ได้ เพราะอยู่ในกรง

จากการสำรวจพบว่า เพลิงสร้างความเสียหายไป 133 ล็อค ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 118 ล็อค มีสัตว์เสียชีวิต 13 ชนิด รวม 5,343 ตัว เป็นจำนวนที่ผู้ประกอบการแจ้งกับ กทม. ซึ่งมีร้านค้ามีแจ้งว่าเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ กว่า 51 ร้านค้า

 

สรุป \"ไฟไหม้จตุจักร\" สัตว์เลี้ยงตาย 5.3 พันตัว \"ชัชชาติ\" สั่งปิดตลาดศรีสมรัตน์

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องน่าเศร้า ผู้เสียหายที่แท้จริงตายหมดแล้ว ไม่สามารถเรียกร้องอะไร แต่ยืนยันว่าสัตว์เหล่านั้นจะไม่ตายฟรีอย่างแน่นอน เพราะหลังจากนี้มาตรการด้านการดูแลความปลอดภัยโดยเฉพาะอัคคีภัยจะต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้นอีก เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่สามารถหลบหนีได้ รวมถึงสภาพความเป็นอยู่สัตว์ทุกตัวเสียชีวิตในกรง หลังจากนั้นจะข้อกฎหมายมาบังคับใช้จริงจัง

โดยเฉพาะ พ.ร.บ.สาธารณสุขพ.ศ.2535, พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.255 และ พ.ร.บ.ทารุณกรรม และจะจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 เข้ามาควบคุมผู้ประกอบการร้านค้า ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นยอมรับว่า ควรมีมาตราการป้องกันที่ดีกว่านี้ หลังจากนี้จะต้องเอาจริงเรื่องการขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบกิจการขายสัตว์เลี้ยงและซากสัตว์อย่างจริงจัง

ส่วนร้านค้าในพื้นที่จะยังไม่สามารถเปิดได้ หากจะเปิดใหม่ การรถไฟฯ ในฐานะเจ้าของพื้นที่จะต้องเข้ามาขออนุญาต เปิดกิจการกับ กทม. เพื่อเปิดกิจการตลาดนัดขายสัตว์ ขณะที่ผู้ประกอบการร้านค้า ก็ต้องมาขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตค้าขายสัตว์และซากสัตว์ รวมถึงจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.ทารุณกรรม และจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 เพื่อให้สถานที่เป็นไปตามความเหมาะสม 

สรุป \"ไฟไหม้จตุจักร\" สัตว์เลี้ยงตาย 5.3 พันตัว \"ชัชชาติ\" สั่งปิดตลาดศรีสมรัตน์

ผู้สื่อข่าวถามว่า การนำกฎหมาย 3 ฉบับมาบังคับใช้ เป็นวัวหายล้อมคอกหรือไม่ นายชัชชาติ ยอมรับว่า หากจะพูดเช่นนี้ก็ได้ แต่ก็ดีกว่าไม่มีคอก ส่วนตัวเชื่อว่าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้ที่เป็นอยู่ ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ดังนั้นอนาคต จะต้องดีกว่านี้ สำหรับร้านค้าที่เสียหายจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ จะได้รับค่าชดเชยอัคคีภัย 11,400 บาท เฉพาะร้านค้าที่มีใบอนุญาต ที่มีเพียง 36 ร้านในตลาด

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการบางรายระบุว่า มีสัตว์ในร้านราคาแพงกว่า 1 ล้านบาทต่อตัว หน่วยงานรัฐจะมีการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง นายชัชชาติ ระบุว่า หากรู้ว่าสัตว์มีราคาสูงตัวละเป็นล้าน ควรนำกลับบ้าน ไม่ควรปล่อยไว้ในร้าน ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่แล้ว ส่วนการชดเชยในเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่ความรับผิดชอบของ กทม. แม้ว่าเราจะเห็นใจก็ตาม

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐฯ สามารถเอาผิดผู้ประกอบการร้านค้าที่ขายสัตว์ดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ ได้หรือไม่ นายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ระบุว่า กรณีนี้ไม่เป็นอุบัติเหตุก็จริง แต่เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ไม่ควรหละหลวมการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งที่มีอยู่และมีเพิ่ม อยากเห็นครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย และอยากให้ตลาดนัดหรือที่ใด ควรมีเจ้าหน้าที่จากปศุสัตว์ และ กทม. เข้าตรวจสอบ

เมื่อวานไม่ใช่แค่ไปดูซาก แต่เราพบว่าสัตว์ที่อยู่ในร้าน ปลอดสุขอนามัย ไม่มีใครสนใจ สวัสดิการสัตว์เลย แต่เรามีข้อมูลว่า ราชการเพิกเฉยต่อกฎหมาย ที่ออกมาแล้ว จึงอยากให้นึกถึงสภาพเหตุการณ์ครั้งนี้สัตว์ต้องทนควันพิษ ความร้อนที่เพิ่มขึ้น อย่างทุรนทุรายแค่ไหน

สรุป \"ไฟไหม้จตุจักร\" สัตว์เลี้ยงตาย 5.3 พันตัว \"ชัชชาติ\" สั่งปิดตลาดศรีสมรัตน์

ด้าน รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า หลังจากนี้ อยากขอร้องให้ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าของพื้นที่ตลาดนัดทั้งหลาย ส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้องและเป็นจริง เพื่อให้กรมปศุสัตว์สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ และอยากให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เพียงแค่เข้าไปตรวจสอบก็ถูกต่อต้าน แต่จากเหตุการณ์นี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการน่าจะเข้าใจ การลงทะเบียนจะส่งผลดีอย่างไร

ด้าน นางวันทนี กล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ สภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ตายในกรงเป็นภาพที่สลดหดหู่ ยอมรับห่วงปัญหา องค์กรไซเตสจะเข้ามาตรวจสอบ และอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศได้

อย่างไรก็ตามผู้ว่าฯชัชชาติยังฝากถึงผู้ประกอบการร้านค้าสัตว์เลี้ยงและค้าซากสัตว์ทุกประเภทใน กทม. จะต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบกิจการร้านค้าเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.3 ฉบับภายในวันที่ 15 ก.ค. นี้ หากไม่ดำเนินการและตรวจสอบพบ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนกรณีเจ้าของพื้นที่ คือ การรถไฟฯ ได้เข้ามาหารือหรือไม่ นายชัชชาติ ตอบเพียงว่า ยังไม่ได้รับการประสานเข้ามา

 

สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ให้ กทม.ดำเนินการ
 

หลังจากแถลงเสร็จ นายโรเจอร์ โลหะนันท์ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ได้ยื่นหนังสือจากภาคีเครือข่ายองค์กรด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทยเพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้กรุงเทพฯ ดำเนินการ 3 ข้อ 1 ด่วน คือ 

  • 1. ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์เพลิงไหม้โดยเร่งด่วน โดยมีคณะกรรมการกลางที่เกี่ยวข้องมีความเป็นธรรมเป็นกลางและโปร่งใส 
  • 2. จัดให้พัฒนาปรับปรุงอาคารสถานที่ขายสัตว์เลี้ยงให้ได้มีมาตรฐาน รวมถึงมีมาตรการระงับเหตุป้องกันอัคคีภัย และด้านความปลอดภัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและมีคณะกรรมการติดตามกำกับดูแลการดำเนินงานในพื้นที่ขายสัตว์เลี้ยง
  • 3. ให้บังคับใช้กฎหมายเช่นประกาศของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด 

 

ทั้งนี้ ทางภาคีเครือข่ายและอาสาสมัครภาคประชาชนเฝ้าระวังติดตามการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันเสนอผลักดันแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในสถานที่จำหน่ายสัตว์เลี้ยง ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม