ข่าว

ย้อนคคี วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ทายาทเจ้าสัว TOA จากนักธุรกิจ กลายเป็นผู้ต้องหา

ย้อนคคี “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ทายาทเจ้าสัว TOA จากนักธุรกิจ กลายเป็นผู้ต้องหา เปิดสัมพันธ์ “ชนินทร์” เดินเกมกลโกง “ทุจริต-ฉ้อโกง” STARK เสียหายกว่า 1.4 หมื่นล้าน

23 มิ.ย. 2567 เวลา 09.25 น. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI นำตัว “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” 1 ในอดีตผู้บริหารคนสำคัญของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ถูกดำเนินคดีฉ้อโกง STARK หลบหนีคดีไปอยู่ที่ นครดูไบ แต่ในที่สุดก็สามารถจับตัว “ชนินทร์” กลับไทยมาดำเนินคดีได้ ด้วยความร่วมมือกันระหว่างได้รัฐบาลไทย และทางการประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

 

ย้อนคคี วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ทายาทเจ้าสัว TOA  จากนักธุรกิจ กลายเป็นผู้ต้องหา

 

กว่า 1 ปีคดีฉาว STRAK สร้างความหายนะต่อระบบตลาดเงิน-ตลาดทุนของประเทศไทย นักลงทุน และสถาบันการเงิน มูลค่าความเสียหายกว่า 1.4 หมื่นล้าน จากน้ำมืออดีตผู้บริหาร และพวก ที่รวมกันทำเป็นขบวนการ ตั้งแต่ตกแต่งบัญชี ฉ้อโกงประชาชน รวมถึงการฟอกเงิน 

โดยอีก 1 อดีตผู้บริหาร STRAK ที่เป็นตัวการสำคัญคือ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ถูกดำเนินคดีในข้อหาทุจริตไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ จนเป็นเหตุให้ STARK ได้รับความเสียหาย หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการหรือผู้บริหารบริษัท และข้อหาอื่นๆ ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

ย้อนคคี วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ทายาทเจ้าสัว TOA  จากนักธุรกิจ กลายเป็นผู้ต้องหา

 

  • เปิดประวัติ "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ" ผู้ต้องหาคดี STARK

หากย้อนประวัติ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” จากนักธุรกิจ สู่ผู้ต้องหา คดี STARK “วนรัชต์”เป็นทายาทรุ่น 2 อาณาจักรสีหมื่นล้าน “ทีโอเอ” โดยเป็นบุตรชายคนโตของ “ประจักษ์-ละออ ตั้งคารวคุณ” จบการศึกษาสูงระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 

 

“วนรัชต์” เป็นผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ของ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หลังจากก่อเหตุและถูกดำเนินคดี ได้สร้างความสั่นสะเทือนกับธุรกิจของตระกูล “ตั้งคารวคุณ” อย่างมาก จนทำให้ “จตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ" น้องชายของ “วนรัชต์” ซึ่งเป็น ซีอีโอ บริษัทฯ ต้องออกมาให้ข้อมูลถึงความไม่เกี่ยวข้องกับ STARK ที่เป็นธุรกิจส่วนตัวของ “วนรัชต์” 

 

"วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ" เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ในฐานะผู้ก่อตั้งในปี 2561 (ขณะนั้นกิจการยังไม่ได้ชื่อว่า STARK)

 

สำหรับจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่าง STARK กับ "วนรัชต์" และ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการตลาดทุน จากการร่วมทำงานดีล บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ในช่วงที่มีการปรับโครงสร้างซื้อกิจการครั้งใหญ่ราวปี 2554 โดย "ชนินทร์" ยังได้รับความไว้วางใจจากครอบครัว "ตั้งคารวคุณ" ให้เข้ามาดูแลและเป็นที่ปรึกษากิจการครอบครัวด้วย

 

จึงเป็นเหตุให้ "วนรัชต์" ดึง "ชนินทร์" เข้ามาร่วมธุรกิจ พร้อมให้ออกหน้าดำเนินการติดต่อเจรจาเข้าซื้อหุ้นกิจการในตลาดหุ้นไทย ชื่อ บริษัท สยามอินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM ในปี 2562 โดย “วนรัชต์” เป็นผู้สนับสนุนเงินลงทุนในดีลนี้

 

หลังจากนั้นมีการปรับโครงสร้าง SMM ซึ่งเคยประกอบธุรกิจผลิตสื่อ และกลายมาเป็น STARK มีแกนธุรกิจหลักประกอบการผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้ารายใหญ่

 

หลังจากนั้นชื่อ "วนรัชต์" มีบทบาทเป็นประธานกรรมการบริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ใน STARK กระทั่งหลังกลางปี 2565 เริ่มมีสัญญาณดีลธุรกิจในต่างประเทศที่ยืดเยื้อกว่าแผนกำหนดการที่เคยประกาศ ต่อมาในปีเดียวกันเริ่มมีการชำระดอกเบี้ยธุรกิจล่าช้าบ้าง

 

กระทั่งช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 เกิดประเด็นข้อสงสัยจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงงบการเงิน จนภายหลังมีการแก้ไขตัวเลขกำไรย้อนหลังปี 2564 และ 2565 กลายเป็นพลิกมาขาดทุนจำนวนมากระดับหมื่นล้านบาท

 

ในช่วงปี 2566 ผู้บริหารระดับสูง STARK มีการทยอยลาออก ทำให้ “วนรัชต์” ต้องเข้าไปรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หลังจากที่ได้ลาออกจากประธานกรรมการบริหารมาก่อนหน้านี้

 

 

ย้อนคคี วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ทายาทเจ้าสัว TOA  จากนักธุรกิจ กลายเป็นผู้ต้องหา

 

  • ไทม์ไลน์ "วนรัชต์" จำเลยคดี STARK จากเรือนจำ สู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ

 

20 มิ.ย. 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รับเรื่องการร้องเรียนทุจริต STARK ฐานฉ้อโกงประชาชนเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 (คดีพิเศษที่ 57/2566) มีผู้เสียหายทั้งสิ้นจำนวน 4,704 ราย มูลค่าความเสียหาย 14,778 ล้านบาท โดย "วนรัชต์" เป็น 1 ในผู้ต้องหาหลัก ข้อหาร่วมกับพวกหลอกลวงประชาชนให้ลงทุนซื้อหุ้นกู้ โดยเสนอผลตอบแทนสูง แต่สุดท้ายผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย

 

6 ก.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งยึดอายัดทรัพย์ผู้บริหาร STARK รวม 10 ราย ซึ่งรวมถึง "วนรัชต์" ด้วย อีกทั้งห้ามออกนอกประเทศ มีกำหนด 15 วัน สอดคล้องกับที่เดือนเดียวกันนี้ศาลอาญาอนุญาตให้ยึดอายัดทรัพย์สิน

 

โดยช่วงหนึ่ง “วนรัชต์” ให้การต่อศาลกรณีที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ซึ่งเป็นผู้ที่ รับผิดชอบคดีทุจริต บมจ. สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ตรวจพบว่า นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ STARK ได้โยกย้ายเงินจํานวน 8,000 ล้านบาท ไปเก็บไว้ที่ประเทศอังกฤษ

 

10 ก.พ. 2567 เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เข้าควบคุมตัว "วนรัชต์" ขณะรักษาตัวได้ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ และผู้ต้องหาได้ออกจากโรงพยาบาล

 

12 ก.พ. 2567 คุมตัวมาที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเข้ารับฟังคำสั่งฟ้องคดีทุจริต ศาลคัดค้านการประกัน "วนรัชต์" ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมขอต่อสู้คดี นัดพยานหลักฐานวันที่ 10 มิ.ย. 2567 พร้อมนำตัวคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

 

13 ก.พ. 2567 “วนรัชต์” มีอาการป่วย พบความผิดปกติเป็นก้อนเนื้ออักเสบในร่มผ้า กรมราชทัณฑ์ส่งตัวเข้ารักษา รพ.ราชทัณฑ์

 

19 ก.พ. 2567  ตรวจพบก้อนเนื้อบริเวณอัณฑะ ก่อนส่งตัวไปรักษาที่ รพ.รามาธิบดี แต่ไม่มีคิวผ่าตัด

 

23 เม.ย. 2567  ส่งตัวไปรักษาตัวต่อที่ รพ.ตำรวจ เพื่อรอคิวผ่าตัด

 

1 พ.ค. 2567   ได้รับการผ่าตัดที่ รพ.ตำรวจ เรียบร้อยแล้ว

 

23 พ.ค. 2567  ครบกำหนดตามสิทธิการรักษา 30 วัน ที่ รพ.ตำรวจ

 

ส่วนกรณีกำหนดการส่งตัวกลับมายังทัณฑสถาน ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ฝั่งโรงพยาบาลตำรวจ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ,ฐานเศรษฐกิจ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง