พิธีบวงสรวงเรือพระที่นั่ง ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เตรียมนำลงน้ำ 4 ก.ค. 67 นี้
กองทัพเรือ บวงสรวงเรือพระที่นั่งเสร็จสมบูรณ์ เตรียมนำลงน้ำ 4 ก.ค. 2567 นี้ ชวนคนไทย-นักท่องเที่ยว ชมความงาม ขณะผบ.ทร. ตื้นตันน้ำตาคลอ แม้เกษียณก่อนงานพระราชพิธี แต่จะเตรียมทุกอย่างให้ดีที่สุด เผยกำลังพล 2,200 นาย สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสูงสุดที่ได้ถวายงาน
2 มิ.ย.2567 พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ พิธีสงฆ์ และเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือพระราชพิธี จำนวน 14 ลำ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย โดยมีเรือพระราชพิธีเข้าร่วม 8 ลำ ประกอบด้วย
- เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
- เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
- เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
- เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
- เรือเอกชัยเหินหาว
- เรือครุฑเตร็จไตรจักร
- เรือกระบี่ปราบเมืองมาร
- เรืออสุรวายุภักษ์
โดยภายหลังจากเจ้าพนักงานอ่านโองการเสร็จ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เริ่มประกอบพิธีสงฆ์ จุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ให้ศีล เจริญพระพุทธมนต์ สวดอนุโมทนา ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ จากนั้นผู้บัญชาการททารเรือ เจิมเรือ ปิดทอง ผูกผ้าสี คล้องพวงมาลัย โปรยข้าวตอกดอกไม้ เพื่อบวงสรวงแม่ย่านางเรือ และรำบวงสรวงโดยกรมศิลปากร เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
ซึ่งในเวลาเดียวกันที่ โรงเรือพระราชพิธีท่าวาสุกรี ก็ได้จัดให้มี พิธีบวงสรวงเรือพระราชพิธีอีก 6 ลำ ได้แก่
- เรือเอกชัยหลาวทอง
- เรือกระบี่ราญรอนราพณ์
- เรือครุฑเหินเห็จ
- เรือพาลีรั้งทวีป
- เรือสุครีพครองเมือง
- เรืออสุรปักษี
สำหรับการบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ เป็นพิธีกรรมในการยอมรับนับถือ และให้การคารวะบูชาต่อพระภูมิเจ้าที่ที่ปกปักรักษา คุ้มครอง ป้องกันสถานที่นั้นๆ พิธีกรรมเป็นการสวดอาราธนาบารมี พระพุทธานุภาพ พระธรรมานุภาพ พระสังฆนุภาพ เทพพรหมเทวา รวมถึงเท้าจตุมหาราช ผู้เป็นใหญ่ในทั่วทิศทั้ง 4 ลงมาประทับ
ณ สถานประกอบพิธี และพิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ เป็นความเชื่อแต่โบราณว่า เรือทุกลำมีแม่ย่านางเรือสิงสถิตอยู่ คอยปกปักรักษา คุ้มครองป้องกันอันตรายทั้งปวง ก่อนออกเรือทุกครั้ง หรือ การนำเรือไปใช้งาน จึงมักกระทำพิธีบูชาแม่ย่านางเรือก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ
พลเรือเอก อะดุง กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดกระบวนเรือพระราชพิธี ว่า เดือนนี้เป็นเดือนมหามงคลครบรอบ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งวันนี้กองทัพเรือ กรมศิลปากร สำนักพระราชวัง เป็น 3 หน่วยงานหลัก ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประกอบพิธี ส่วนวันนี้เป็นการบวงสรวงและไหว้แม่ย่านางเรือ หลังจากนี้ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 จะนำเรือทั้งหมดลงน้ำ และนำไปจอดไว้อู่ธนบุรี ซึ่งเป็นอู่แห้งของกองทัพเรือ
ขณะที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป จะเริ่มซ้อมขบวนเรือทั้ง 52 ลำ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวม 12 สัปดาห์ และวันซ้อมใหญ่จะแต่งชุดเหมือนจริงคือวันที่ 15 ตุลาคม และ 22 ตุลาคม 2567
ทั้งนี้ ยืนยันว่าเรือทุกลำพร้อม 100% แล้ว บทเห่เรือก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนกำลังพลได้ซักซ้อมตามเวลาที่กำหนด ซึ่งกองทัพเรือ กรมศิลปากร และสำนักพระราชวัง จะถวายงานนี้ให้สมพระเกียรติสูงสุด และจะทำให้ดีที่สุด เพื่อประชาชนคนไทย และพระองค์ท่าน
“วันที่ 27-29 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้เรานำเรือสุพรรณหงส์ เรือนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 และเรืออนันตนาคราช มาจอดไว้ที่กลางแม่น้ำ จัดแสดงแบบผูกทุ่น ที่ท่าราชวรดิฐ พร้อมกับการสาธิตเห่เรือ 2 รอบคือ เวลา 15:00 น. และ 18:00 น. โดยในช่วงกลางคืนจะมีแสงไฟประกอบ
สำหรับพระราชพิธีในครั้งนี้ ใช้กำลังพล 2,200 นาย ซึ่งทหารเรือทุกนาย รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงที่สุดในชีวิต ที่ได้ถวายงานนี้ และจะทำงานนี้ถวายพระองค์ท่านอย่างดีที่สุด ถึงแม้ว่าผมจะเกษียณอายุราชการ แต่จะเตรียมทุกอย่างให้ดีที่สุด เพื่อให้งานนี้สมบูรณ์ที่สุด”