ข่าว

รัฐบาล เตรียมเพิ่มเงินช่วยเหลือ ผู้ป่วยติดเตียง ติดบ้าน ปีละ 10,442 บาท ต่อคน

รัฐบาล เตรียมเพิ่มเงินช่วยเหลือ ผู้ป่วยติดเตียง ติดบ้าน ปีละ 10,442 บาท ต่อคน

03 ก.ค. 2567

รัฐบาล เตรียมเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้มีภาวะพึ่งพิง จาก 6,000 บาท เป็น 10,442 บาทต่อปี พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมาย คาดครอบคลุมผู้ป่วยติดเตียง ติดบ้าน 6 แสนคน

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  ในแต่ละปีจะมีผู้มีภาวะพึ่งพิง (ผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง) ได้รับการดูแลจากภาครัฐอยู่ที่จำนวน 320,000 คนต่อปี แต่พบว่ายังมีผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงกลุ่มอื่น ๆ ในชุมชนเพิ่มเติมอีก เช่น กลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อม กลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) เป็นต้น ซึ่งมีความจำเป็นหรือความต้องการที่ต้องได้รับการดูแลเหมือนกับกลุ่มที่มี ADL เท่ากับหรือต่ำกว่า 11 

 

ดังนั้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้มีภาวะพึ่งพิงให้ได้รับบริการที่บ้านหรือในชุมชนเพิ่มขึ้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบให้ขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ครอบคลุมกลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ระยะปานกลางและกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย โดยคาดการณ์ว่า จะทำให้มีผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงที่ได้รับการดูแลในระบบเพิ่มรวมเป็นจำนวนประมาณ 6 แสนคน

นายคารม กล่าวว่า นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติเพิ่มงบประมาณค่าบริการจากเดิมเหมาจ่ายการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ จากจำนวน 6,000 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มเติมเป็นจำนวน 10,442 บาทต่อคนต่อปี (เพิ่มขึ้น 4,442 บาทต่อคนต่อปี) ซึ่งจะทำให้ อปท. มีงบประมาณสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นในการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ ทำให้หน่วยบริการสามารถจัดบริการได้ดีขึ้น รวมถึงจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นให้กับผู้ป่วย 

 

ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดแรงจูงใจหน่วยบริการที่มีศักยภาพ เช่น สถานชีวาภิบาลที่อยู่กระจายในชุมชนเข้าร่วมให้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงในระบบ

 

"รัฐบาลมุ่งดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ผ่านการจัดสรรงบประมาณ โดยมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานดำเนินการให้ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) โดยได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านกลไก “ระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่” (Long Term Care : LTC )" นายคารม กล่าว