หมอแนะ วิธีดูอาการ ปฐมพยาบาล หลังผลชันสูตร ยายวัย 78 เสียชีวิตจาก "เห็ดพิษ"
กิน "เห็ดพิษ" หมอแนะ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และวิธีสังเกตุอาการ หลังพบยาย วัย 78 เสียชีวิตจาก "เห็ดพิษ" รายที่ 2 ของจังหวัด
3 ก.ค. 2567 นายแพทย์ยุทธนา สุริยะ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีพบผู้เสียชีวิตจากเห็ดพิษ รายที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดยโสธร หลังจากที่พบผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 จำนวน 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 78 ปี มีอาการตาพร่ามัว อาศัยอยู่กับบุตรชาย 1 คนโดยบุตรชาย อายุ 46 ปี อาชีพทำนา และรับจ้างทั่วไป อยู่ที่ตำบลน้ำคำใหญ่ อำเภอเมืองยโสธร
โดยในวันที่ 29 มิถุนายน 2567 เวลา 17.00 น. ผู้เสียชีวิตรับประทานเห็ดนึ่งรวมพร้อมกับบุตรชาย ซึ่งได้เก็บเห็ดมาจากในบริเวณวัดป่าบ้านน้ำคำน้อย และบริเวณรอบวัดป่าบ้านน้ำคำน้อย เพื่อนำมาประกอบอาหาร ซึ่งปรุงเอง โดยนึ่งเห็ดรวมประกอบไปด้วย
- เห็ดถ่านแตงเลือด
- เห็ดปลวก
- เห็ดไค (เห็ดสงสัยลักษณะคล้ายเห็ดถ่าน)
ผู้เสียชีวิต ได้เล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า "บุตรชายนึ่งเห็ดให้กิน แต่ไม่รู้ว่าเห็ดสุกไหม รู้สึกว่าเห็ดมันกรอบ ไม่นิ่มเหมือนเห็ดที่สุกแล้ว" และช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. เริ่มป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และแน่นหน้าอก แต่ผู้เสียชีวิตไม่ยอมไปโรงพยาบาล ในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 เวลา 12.00 น. บุตรชายเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวนท้อง และถ่ายเหลว ญาติจึงโทรเรียกรถพยาบาลมารับทั้งผู้เสียชีวิตและบุตรชาย ไปส่งที่โรงพยาบาลยโสธร
ต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เวลา 08.00 น. มารดาเสียชีวิต ส่วนบุตรชายยังรักษาที่โรงพยาบาลยโสธร อาการหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เกิดจากการรับประทานอาหารที่สงสัยจากเห็ดพิษ ซึ่งผู้เสียชีวิตและบุตรชาย ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ (Mushroompoisoning) เป็นการระบาดแบบแหล่งโรคร่วมจากการกินเห็ดรวมหม้อเดียวกัน ซึ่งสงสัยว่าได้กินเห็ดพิษ หลังจากรับประทานไป 3 ชั่วโมง เกิดอาการระบบทางเดินอาหารแบบเฉียบพลัน และพิษมีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้นจนมีผู้เสียชีวิต โดยอาจมีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการทดสอบเห็ดพิษ
ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการทดสอบเห็ดพิษ
1.นำไปต้มกับข้าวสาร ถ้าเป็นเห็ดพิษ ข้าวสารจะสุกๆ ดิบๆ หรือไม่สุก
2.ใส่หัวหอมลงไปในหม้อต้มเห็ด ถ้าเห็ดเป็นพิษ น้ำต้มเห็ดจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
3.ในขณะที่ต้มเห็ด ถ้าใช้ช้อนที่เป็นช้อนเงินแท้ลงไปคน ถ้าเห็ดเป็นพิษช้อนจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
4.ใช้มือถูหมวกดอกเห็ดจะเกิดแผล ถ้ารอยเผลมีสีดำ แสดงว่าเป็นเห็ดพิษ
สารพิษในเห็ดหลายชนิดไม่สามารถทดสอบด้วยวิธีการดังกล่าวข้างต้นได้
ในช่วงฤดูฝนจะมีเห็ดป่าเกิดขึ้นมากมาย หากประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งนอกพื้นที่และในพื้นที่อาศัยอยู่ใกล้เขตป่าที่มีเห็ดเกิดขึ้นมากมาย และนิยมนำเห็ดป่ามาปรุงเป็นอาหารซึ่งกินเห็ดที่ไม่รู้จัก อาจเกิดเหตุการณ์การระบาตอาหารเป็นพิษสงสัยจากเห็ดป่าในลักษณะใกล้เคียงกันเกิดขึ้นอีกได้
ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร ได้สั่งการให้หน่วยบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ดำเนินการเฝ้าระวัง สื่อสาร และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ ให้ระมัดระวังในการรับประทานเห็ดธรรมชาติ "เห็ดไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน"
นอกจากนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์เชิงกว้างผ่านช่างทางสื่อต่าง ๆอีกด้วย ทั้งนี้จังหวัดยโสธรพบผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษ เมื่อปี 2558 จำนวน 2 ราย ที่อำเภอเลิงนกทา, ปี 2566 จำนวน 3 ราย ที่อำเภอมหาชนะชัย 2 ราย และอำเภอป่าติ้ว 1 ราย ซึ่งเก็บเห็ดจากป่าธรรมชาติในพื้นที่อำเภอ คำเขื่อนแก้วไปปรุงรับประทานเอง
สำหรับสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 มิถุนายน 2567 ประเทศไทย พบผู้ป่วย 1,066 ราย อัตราป่วย 5.23 ต่อประซากรแสนคน เสียชีวิต 1 ราย อัตราตาย 0.005 ต่อประชากรแสนคน
เขตสุขภาพที่ 10 พบผู้ป่วย 443 ราย อัตราป่วย 11.48 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต (26 พฤษภาคม - 22 มิถุนายน 2567) 1 ราย อัตราตาย 0.026 ต่อประซากรแสนคน
จังหวัดยโสธร พบผู้ป่วย 74 ราย อัตราป่วย 17.21 ต่อประซากรแสนคน เสียชีวิต 1 ราย (อ.คำเขื่อนแก้ว) อัตราตาย 0.19 ต่อประชากรแสนคน อัตราป่วยตาย ร้อยละ 1. 56 และรายงานผู้เสียชีวิตรายล่าสุด วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 จำนวน 1 ราย (อ.เมืองยโสธร.)
เมื่อพิจารณาแนวโน้มผู้ป่วย พบว่า จำนวนผู้ป่วยรายสัปดาห์เปรียบเทียบกับค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงสัปดาห์ที่ 21-26 (26 พฤษภาคม - 29 มิถุนายน 2567 และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 กับ ปี 2566 พบว่า จำนวนผู้ป่วยในปีนี้ สูงกว่าปี 2566 ถึง 10 เท่า
อาการของผู้ป่วยหลังกินเห็ดพิษ
ระยะเวลาในการแสดงอาการของผู้ป่วยหลังกินเห็ดพิษ เริ่มมีอาการตั้งแต่เร็วเป็นนาที หรืออาจนาน หลายชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่เล็กน้อย ได้แก่
- วิ่งเวียน
- อาเจียนปวดท้อง
- ถ่ายเหลว
อาการรุนแรง
- ไตวาย
- ตับวาย
- เสียชีวิตในที่สุด
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หลังกินเห็ดพิษ
สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- ดื่มน้ำผสมเกลือ แล้วล้วงคอทำให้อาเจียน
- ให้กินผงถ่าน (activatedcharcoal) ที่ผสมกับน้ำให้ข้นเหลวคล้ายโจ๊ก (slurry) โดยผู้ใหญ่ใช้ 30 -100 กรัม เด็กใช้ 15 - 30 กรัม เพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหาร แต่ถ้าไม่มีผงถ่านก็ให้ใช้ไข่ขาวแทน
- หลังจากปฐมพยาบาล ควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด พร้อมแจ้งประวัติ การกินเห็ด และนำตัวอย่างเห็ดที่เหลือ หรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย รวมถึงแจ้งผู้กินเห็ดจากแหล่งเดียวกันให้สังเกตอาการ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร จึงขอให้ประชาชนเลือกซื้อและกินเห็ดที่มีการเพาะพันธุ์จากฟาร์มเห็ด หรือแหล่งที่มีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย หลีกเสี่ยงการเก็บหรือกินเห็ดป่าหรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่ นอกจากนี้ ไม่ควรเก็บเห็ดในบริเวณที่มีการใช้สารเคมี รวมถึงไม่กินเห็ดดิบ และไม่กินเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
ดังนั้น "เห็ดไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่ซื้อ ไม่กิน"หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมไต้ที่ กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธรโทร 045 7122 33-4 ต่อ 139 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422