ข่าว

ไขข้อสงสัย ดื่มน้ำขวดพลาสติก แบบไหน เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อ โรคเบาหวานประเภท 2

ไขข้อสงสัย ดื่มน้ำขวดพลาสติก แบบไหน เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อ โรคเบาหวานประเภท 2

04 ก.ค. 2567

อาจารย์เจษฎ์ ไขข้อสงสัย ดื่มน้ำขวดพลาสติก แบบไหน เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อ โรคเบาหวานประเภท 2 ใช่ที่ดื่มอยู่หรือไม่

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีกระแสข่าวมีการเปิดเผยผลวิจัยที่เตือนว่า หากดื่มน้ำจากขวดพลาสติกบ่อยครั้ง เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อ โรคเบาหวานประเภท 2 โดยระบุดังนี้

 

อย่าเพิ่งตกใจครับ “ขวดพลาสติก” ที่งานวิจัยศึกษาผลของสาร BPA ต่อการเกิดโรคเบาหวานนี้พูดถึง เขาไม่ได้หมายถึง “ขวดน้ำดื่มแบบ PET” ขวดใส ๆ ที่เราใช้กัน แต่เป็นพลาสติกชนิดโพลีคาร์บอเนต polycarbonate

 

ที่ผิดกันไปหมดคือสื่อ (ทั้งในไทย และในต่างประเทศ) ที่เอาภาพขวดน้ำดื่ม PET นี้มาประกอบข่าว เลยเข้าใจมั่วกันหมด

 

ตามรายงานข่าวนั้น บอกว่า ผลการศึกษาของทีมนักวิจัยจาก California Polytechnic State University ในสหรัฐ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes ชี้ว่า การดื่มน้ำผ่านขวดพลาสติก (ชนิดที่มีส่วนผสมของสาร BPA) บ่อย ๆ อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ เนื่องจากขวดพลาสติก (ชนิดที่มีส่วนผสมของสาร BPA) มีสารเคมี BPA ที่สามารถลดความไวของร่างกายต่ออินซูลินได้

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

รายงานของทีมวิจัย พบว่า จากการสุ่มทดลองกับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี 40 คน โดยมีทั้งคนที่ได้รับยาหลอก (placebo) กับคนที่ได้รับสาร BPA ประมาณ 50 ไมโครกรัมต่อร่างกายหนึ่งกิโลกรัมของน้ำหนัก (เป็นการให้รับสารเคมีโดยตรง ไม่ใช่การดื่มน้ำหรือกินอาหารจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก) ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA) ถือว่า อยู่ในประเภทปลอดภัยในปัจจุบัน

 

ซึ่งผลการทดสอบ พบว่า ผู้ที่ได้รับสาร BPA มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยพวกเขาจะตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลงหลังจากผ่านไป 4 วัน ดังนั้นสาร BPA อาจลดความไวของร่างกายต่ออินซูลิน จึงส่งผลต่อการเผาผลาญกลูโคส นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกที่ยืนยันโดยตรงว่า การบริโภค BPA เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2 ในผู้ใหญ่

 

อย่างไรก็ตาม สารเคมี BPA ส่วนใหญ่จะใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และขวดน้ำพลาสติก (พวกที่ทำจากพลาสติกโพลีคาร์บอเนต ซึ่งมี BPA ปนอยู่) สามารถลดความไวต่อฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายได้ ทางสมาคมโรคเบาหวานแห่งอเมริกา (ADA) จึงได้ออกมาเรียกร้อง ให้มีกฎระเบียบทางอุตสาหกรรมถึงปริมาณความปลอดภัยของสาร BPA ที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าการสัมผัสสารเคมีที่เป็นอันตรายเหล่านี้จะลดลง
 

สรุปงานวิจัยผลของการกินสาร BPA ต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานนี้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ “ขวดน้ำดื่ม PET” เพราะขวด PET ไม่ได้มี BPA เป็นส่วนผสม เฉพาะพวกขวด โพลีคาร์บอเนต ต่างหากที่อาจน่ากังวลได้ ถ้ามี BPA สูง...