ปลาหมอคางดำ มาจากไหน ทำไมต้องเร่งกำจัดจากระบบนิเวศ กินได้ไหม มีคำตอบ!
ทำความรู้จัก "ปลาหมอคางดำ" เอเลี่ยนสปีชีส์ จอมตะกะ ขยายพันธุ์รุกรานน้ำไทย ต้นกำเนิดมาจากไหน ใครพาเข้าไทย กำจัดด้วยการกินได้ไหม มีคำตอบ
ปลาหมอคางดำ กลายเป็นวาระใหญ่ของเกษตรกรหลายพื้นที่ หลังจากเกษตรกรหลายรายเริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ขยายพันธุ์อย่างลวดเร็วของ ปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์เอเลี่ยนสปีชีส์ นำเข้าจากทวีปแอฟริกา เมื่อปี 2549 เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล แม้ว่าการแพร่ระบาดในตอนนี้ แต่วิธีการกำจัดปลาหมอคางดำจอมตะกะที่สมน้ำสมเนื้อที่แนะนำ คือ ปลาหมอคางดำ กินได้ และสามารถปรุงได้หลายเมนู!
ปลาหมอคางดำ เอเลี่ยนน้ำจืดทำลายระบบนิเวศ
ปลาหมอคางดำ หรือ Blackchin tilapia มีลักษณะคล้ายกับ ปลาหมอเทศ ของไทย แต่ ปลาหมอคางดำ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ ทวีปแอฟริกา
การปรับตัวของปลาหมอคางดำ
ปลาหมอคางดำ เป็นสัตว์น้ำที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาพแวดล้อมได้ดี และเป็นปลาน้ำจืดที่สาารถอยู่ได้แม้ว่าในน้ำจะมีความเค็มสูง
ปลาหมอคางดำ สามารถปรับตัวกับอาหารได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะต้องโยกย้ายไหลพัดผ่านไปอยู่ที่ถิ่นอื่น ก็จะสามารถปรับตัวให้อยู่อาศัยได้ภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง
ความอันตรายของ ปลาหมอคางดำ ไม่ใช่แค่เรื่องการอยู่ในน้ำที่มีความต่างได้ทั้งเค็มและจืด หรือการปรับตัวด้านอาหารแม้จะต้องอยู่ต่างถิ่น แม้ว่าจะอยู่ในที่ๆ มีสภาพแวดล้อมไม่เหมือนเดิม ปลาหมอคางดำ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่มีความอันตรายต่อระบบนิเวศของไทย อย่างมากคือ ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยขยายพันธุ์ได้ทุก ๆ 22 วัน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วของ ปลาหมอคางดำ เป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้ำจืดไทย เนื่องจากความดุร้ายของปลาหมอคางดำ ทั้งยังมีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้การที่มีจำนวนปลาหมอคางดำเยอะ ก็ทำให้ปลาชนิดอื่น ๆ สูญพันธุ์ไปได้ด้วย
ปลาหมอคางดำ มาจากไหน ?
จากรายงานของ สำนักข่าวอิศรา ซึ่งรวบรวมไทม์ไลน์การเข้ามาของ ปลาหมอคางดำ ว่าถูกนำเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร และนำเข้ามาเพื่ออะไรไว้ดังนี้
- 2549: คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัทแห่งหนึ่ง นำเข้า ปลาหมอสีคางดำมาจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล
- 2553: บริษัทดังกล่าว นำเข้าปลาหมอสีคางดำ จำนวน 2,000 ตัว จากนั้นปลาหมอสีคางดำได้ทยอยตายเกือบทั้งหมดภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลาโดยการโรยด้วยปูนขาวและแจ้งให้กรมประมงทราบ
- 2555: เกษตรกรในพื้นที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรก
- มีนาคม 2561: มีการประกาศห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ซึ่งมีปลา 3 สายพันธุ์ ได้แก่ 1.ปลาหมอสีคางดำ 2.ปลาหมอมายัน 3.ปลาหมอบัตเตอร์ ใครฝ่าฝืนจะมีโทษทางกฎหมาย จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ปลาหมอคางดำ ระบาดหนัก
ชุมพร - เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่ชาวบ้านพบว่าการระบาดของ ปลาหมอคางดำ เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว ลำคลองหลายสายพบว่ามี ปลาหมอคางดำ ให้ชาวบ้านหลายคนเกิดความกังวล หวั่นว่าในอนาคตปลาท้องถิ่นจะสูญพันธุ์หายไป
"คิดว่ากำจัดปลาคางดำคงจะยากมากคับเพราะระบาดไปทั่วแล้ว หน้ากังวลมากครับ อนาคตข้างหน้าจะไม่มีแล้วปลาท้องถิ่น ผมทอดแห (หว่านแห) บริเวณเดียวได้ปลาหมอคางดำ ประมาณ 300 กิโลกรัม หากทอดแห ตลอดลำคลองจะเอาปลาหมอคางดำสักสองตันสบายๆ หากทอดแห บริเวณปากบางที่เค้าปล่อยเลี้ยงกุ้งด้วยนะแหพังครับ" นายสมคิด ศรีเปรื่อง ชาวประมงจังหวัดชุมพร เล่าถึงความเดือดร้อน
"ตั้งแต่มีปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่ เป็นการตัดห่วงโซ่อาหาร ไม่ว่าจะเป็นลูกกุ้ง ลูกปลา สัตว์ทะเลที่เคยอุดมสมบูรณ์ ก็หายไปหมดเพราะตกเป็นอาหารของปลาหมอคางดำไปหมด"
ตอนนี้พวกกุ้ง เคย ไม่มีให้เห็นเลยหายไปหมดแล้ว และปลาหมอเทศก็หายไปหมดแล้ว ในตอนนี้มีแต่ปลาหมอคางดำ แล้วก็ออกไปข้างนอกแล้ว(หมายถึงลงทะเล) ขยายออกริมทะเล และสร้างความเดือดร้อนมาหลายปีแล้วตั้งแต่ปลาหมอคางดำมาอยู่ปลาที่มีราคาและรสชาติดีมีราคาก็หายไปหมด นายโยคิน อ่ำมา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กล่าว
ปลาหมอคางดำ เจอจับตาย
ผู้ว่าเพชร เผยปลาหมอคางดำ ยังระบาดหนัก! แม้จะปล่อยปลากะพงให้กำจัดตามแบบธรรมชาติ พร้อมแนะนำวิธีกำจัดด้วยการจับมาทำอาหารน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ปัจจุบันจังหวัดเพชรบุรี ยังพบการระบาด ปลาหมอคางดำ ในพื้นที่อย่างหนัก โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมือง และอำเภอท่ายาง ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการรุกรานของ เอเลี่ยนสปีชีส์ หรือสัตว์น้ำต่างถิ่น
ทางจังหวัดได้เร่งแก้ปัญหาร่วมบูรณาการ กับทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้กากชา นำไปกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรและทำการจับปลาหมอคางดำในห้วงปลาวางไข่เพื่อกำจัดเผ่าพันธุ์ ป้องกันการแพร่ขยายพันธุ์ รวมถึงมีการปล่อยปลากะพงลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อช่วยควบคุมจำนวนลูกปลาหมอคางดำ และจับปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นอาหาร เช่น ปลาทอด ปลาแดดเดียว มุ่งส่งเสริมให้มีการ แปรรูปผลิตภัณฑ์และอาหารจากปลาหมอคางดำ
สำหรับ ปลาหมอคางดำ เป็นปลาต่างถิ่นที่รุกรานระบบนิเวศน์ ชอบอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำบริเวณ ป่าชายเลน ริมชายฝั่ง มีความทนทานต่อความเค็มของน้ำและวางไข่ได้ในน้ำจืดและน้ำกร่อย เป็นปลาที่อยู่ด้วยกันเป็นฝูง โดยจะแก่งแย่งที่อยู่อาศัยและแย่งอาหาร ทำให้ สัตว์น้ำพื้นถิ่นลดลง และยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กระทบต่อระบบนิเวศน์
นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผวจ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า ต้องขอเรียนว่า จ.เพชรบุรี เราประสบกับปัญหาปลาหมอคางดำอย่างหนัก โดยส่วนตัวได้ไปปล่อยปลากะพงมาหลายครั้งแล้ว ก็คิดว่าจะสามารถไปช่วยกำจัดปลาหมอคางดำนี้ได้ แต่ว่าข้อมูลจากทางสำนักงานประมง และกลุ่มพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปลาหมอคางดำ กินได้ไหม ?
นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผวจ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า เราเองมองเรื่องนี้ว่าเราจะต้องรณรงค์กันอย่างเต็มที่ ต้องขอเรียนว่าส่วนตัวแล้วเคยรับประทานปลาหมอคางดำกินได้ รสชาติจืด นำมาปรุงเป็นหาอาหารได้หลายเมนู และ อร่อยมาก รสชาติดี น่าจะส่งเสริมได้ แต่ปัญหาก็คือ เรื่องของการชำแหละ และการเอามาแปรรูป ก็พยายามส่งเสริมเรื่องของการแปรรูป โดยนำปลาหมอคางดำมาทำน้ำปลา เพื่อจะให้ง่ายต่อการผลิต แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ก็ยังต้องมีความพยายามกันต่อไป
วิธีกำจัด ปลาหมอคางดำ
วิธีการยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหา
แต่....
รสชาติของเนื้อปลาหมอคางดำ มีความอร่อยไม่แพ้เนื้อปลาชนิดอื่นที่เรานิยมกินกัน
นายณัฏฐชัย เชิญชวนพี่น้องชาวประมง นักบริโภคทั้งหลาย ให้ลองสัมผัส ลองลิ้มรสชาติของเนื้อปลาหมอคางดำ ซึ่งเชื่อว่ามีความอร่อยไม่แพ้เนื้อปลาชนิดอื่นที่เรานิยมกิน
ฉะนั้นขอฝากจริงๆ ว่าเราน่าจะเอาวิธีการนี้มาแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการจับปลาหมอคางดำมาประกอบอาหารน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดหลังจากเคยทดลองกำจัดมาด้วยวิธีต่าง ๆ ที่หลากหลายแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้