กมธ.ที่ดิน รับลูก จ่อชำแหละ สปก.ทับลาน เอื้อนายทุนหรือไม่ กัน เฉือนป่ายกเข่ง
"กมธ.ที่ดิน" เล็งหาข้อเท็จจริงจัดสรรที่ดินทำกิน อุทยานแห่งชาติทับลาน 17 ก.ค.นี้ ชำแหละปม สปก. เอื้อกลุ่มทุนหรือไม่ ย้ำต้องทำด้วยความระมัดระวัง ไม่เหมาเข่ง
11 ก.ค. 2567 ณ ห้องโถงแก้ว อาคารรัฐสภา นายพสิษฐ์ เอี๋ยวพานิช สมาคมอุทยานแห่งชาติ พร้อมด้วยนายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอคัดค้านกรณีการปรับปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ได้บรรจุหัวข้อการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นตอนการให้ข้อเสนอแนะอย่างละเอียดรอบคอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และประเด็นการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมาแล้วถึง 2 ครั้ง
โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้มีการใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินในมาตรานี้ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรที่มีอยู่ก่อนแล้ว ภายในเขตป่าอนุรักษ์ให้มีการจัดการได้อย่างเหมาะสมและการเปิดรับฟังและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการปรับปรุงแนวเขตนี้
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พร้อมกับ เครือข่ายและพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม มีความกังวลอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน กว่า 265,000 ไร่ เนื่องจากการเพิกถอนเปลี่ยนแปลงแนวเขตดังกล่าว กระเทือนต่อความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรในป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ รวมถึงอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและอาจก่อให้เกิดบรรทัดฐานการแก้ปัญหาพื้นที่ซ้อนทับในเขตอนุรักษ์อื่น ต่อเนื่องกันไปทั่วประเทศ การเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อแก้ไขปัญหาจะไม่ใช่ข้อยุติ แต่กลับส่งผลให้มีการบุกรุกที่ดินของรัฐต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ ตามมา
นายภานุเดช กล่าวว่า เนื่องจากทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ให้เพิกถอนพื้นที่ป่าออกไป แต่ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมามีการพยายามที่จะนำประเด็นดังกล่าวไปให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เป็นคนดำเนินการอนุมัติเพิกถอนพื้นที่อุทยานใหม่ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่อยู่มาไม่เกินปี 2557 ตามประกาศอุทยานแห่งชาติปี 2562 ได้มีการผ่อนปรนให้สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ แต่ว่ากลุ่มที่มีพื้นที่แสนกว่าไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในระหว่างการติดตามการดำเนินคดีการตรวจสอบ หลายๆ แปลงอยู่ในระหว่างคำพิพากษาของศาลอยู่
"ถ้าเหมาเข่ง กลุ่มประเด็นปัญหาทั้ง 3 พื้นที่มารวมกัน จะเป็นลักษณะของการนิรโทษกรรมผู้ที่อาจจะทำผิดในพื้นที่ดังกล่าว และทำให้กระบวนการในการดูแลจัดการพื้นที่อนุรักษ์ได้รับผลกระทบกระเทือนทั่วประเทศ" นายภาณุเดช กล่าว
ขณะที่ นายพสิษฐ์ เอี่ยวพานิชย์ นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า การยื่นหนังสือคัดค้านไม่เห็นด้วยปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เนื่องจากการสำรวจในปี 2543 ใน 3 กลุ่มใหญ่ มีการสำรวจรังวัดและเยียวยาด้วยมาตรา 64 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากมีการออกโฉนดให้อาจจะขายที่ดินให้กับกลุ่มนายทุนและบุกรุกพื้นที่ป่าไปเรื่อยๆ รวมถึงต้องพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ยาก พร้อมย้ำว่าขออย่าเหมาเข่ง ปัจจุบันไทยมีพื้นทีีป่าอนุรักษ์อยู่ 101 ล้านไร่ หากเราต้องเสียที่ดินปีละ 300,000 ไร่ เราอยู่ไม่ได้ และอุทยานแห่งชาติทับลานถือเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก มีการเพิกถอนจะถูกตีแผ่ขยายไปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว
ตัวแทนเครือข่ายพันธมิตรสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขอให้มีการตรวจสอบสิทธิ์ที่ดินทำกินในพื้นที่ตรงตามกับวัตถุประสงค์หรือไม่ สามารถดำเนินการให้มีการใช้พื้นที่อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงต้องไม่มีการแทรกแซงจากกลุ่มทุน
นอกจากนี้ นายพูนศักดิ์ และคณะกรรมาธิการได้รับหนังสือจากสมาคมอุทยานแห่งชาติ เครือข่ายพันธมิตรสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถึงการแสดงข้อห่วงใยต่อกรณีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานด้วยนำโดยนายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า คทช. มีการบริหารจัดการพื้นที่ใหม่ มีการเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ออกไป 265, 000 ไร่ ซึ่งมีข้อกังวลว่ากลไกในการแก้ไขปัญหาดำเนินการโดยคณะกรรมการอุทยาน ซึ่งมีกฎหมายอย่างชัดเจนแต่ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา กลับมีความพยายาม ให้สคทช.เป็นผู้ดำเนินการ ใช้กลไกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2566 ในการเพิกถอนพื้นที่
จึงอยากให้กรรมาธิการช่วยตรวจสอบ ขณะเดียวกันพบว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีประชากรที่มีความหลากหลายทางปัญหา ไม่ควรนำรวมเหมาเข่ง ใช้วิธีการเพิกถอนในลักษณะเดียวกัน พร้อมกับย้ำว่า ไม่อยากให้เป็นกรณีตัวอย่างไปใช้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่น จึงอยากให้มีการตรวจสอบเพื่อเป็นแนวทางต่อไป