สรุปยอด #Saveทับลาน ลงชื่อคัดค้าน รวมเฉียดล้าน 'ชัยวัฒน์' เชื่อ ครม.ทบทวนแน่
สรุปยอด รับฟังความคิดเห็น ปรับปรุงแนวเขตอุทยานทับลาน #Saveทับลาน ผลกว่า 9 แสนรายชื่อคัดค้าน เห็นด้วย 4.8% สวนทางความเห็นคนพื้นที่ 'ชัยวัฒน์' เชื่อ ครม.ทบทวนแน่
13 ก.ค. 2567 ภายหลังการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทางออนไลน์ กรณี ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติครม. วันที่ 14 มีนาคม 2566 ซึ่งจะมีการตัดพื้นที่ที่มีสภาพเป็นชุมชนออกจากอุทยานแห่งชาติทับลาน 265,000 ไร่ จากนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้วซึ่งระบุว่า เป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนจากการทับซ้อนของแนวเขตที่ดินของรัฐ โดยให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจัดทำแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานฉบับใหม่
ผลการเปิดรับฟังความคิดเห็น การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ผ่านทางออนไลน์ ได้ปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเมื่อเวลา 00.00 น. ของวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา
สรุปผลการเปิดรับฟังความคิดเห็น อุทยานแห่งชาติทับลาน ผ่านช่องทางออนไลน์
ความคิดเห็นทางออนไลน์ซึ่งดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน – 12 กรกฏาคม 2567 จำนวน 15 วัน มีผู้แสดงความคิดเห็น 947,107 คน แบ่งเป็น ไม่เห็นด้วย 901,892 คน คิดเป็น 95.2% เห็นด้วย 45,215 คน คิดเป็น 4.8%
สรุปผลการเปิดรับฟังความคิดเห็น อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่จังหวัดนครราชสีมาและปราจีนบุรี
การประชุมรับความคิดเห็นที่จังหวัดนครราชสีมาและปราจีนบุรีในวันที่ 4 และ 5 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีผลดังนี้
- วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 เห็นด้วย 49 คน ไม่เห็นด้วย 16 คน
- วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 เห็นด้วย 324 คน ไม่เห็นด้วย 50 คน ไม่แสดงความเห็น 8 คน
ทั้งนี้ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช กล่าวว่า ในนามของผู้พิทักษ์ป่า ขอขอบคุณประชาชนที่ไว้ใจพวกเรา และขอบคุณทุกคะแนนที่มอบให้ผืนป่าและสัตว์ป่า ขอบคุณที่ยึดมั่นในความถูกต้อง ทุกคนมีทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าไว้รักษา ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำเพื่อสิ่งแวดล้อมและเพื่ออนาคตของชาติ รวมถึงอนาคตของคนรุ่นต่อไป ในนามผู้พิทักษ์ป่า เราจะดูแลพื้นที่ป่า สัตว์ป่า และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้เป็นอย่างดี
นายชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นมากเป็นประวัติศาสตร์ของการเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องมาตรการต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย เป็นการคัดค้านมติ ครม. วันที่ 14 มีนาคม 2566 อย่างท้วมท้น โดยเชื่อว่า คณะรัฐมนตรีจะต้องนำผลการคัดค้านมาทบทวนแน่นอน