ซีพีเอฟ ยืนยัน ไม่ใช่ต้นเหตุ ปล่อยปลาหมอคางดำ สู่แหล่งน้ำสาธารณะ
ซีพีเอฟ ยืนยัน ไม่ใช่ต้นเหตุ ปล่อยปลาหมอคางดำ สู่แหล่งน้ำสาธารณะ เผย นำเข้ามาวิจัย ปี 53 และทำลายทิ้ง เดือน ม.ค. 54
จากกรณีปลาหมอคางดำ เอเลี่ยนสปีชีส์ แพร่ระบาดไปในหลายจังหวัด ทำลายระบบนิเวศ และเกษตรผู้ทำประมง ต่อมามีการอ้างถึงเอกสารของกรมประมง ระบุว่า บริษัทฯ ยักษ์ใหญ่เป็นผู้นำเข้าปลาชนิดดังกล่าว นั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ปลาหมอคางดำ มาจากไหน ทำไมต้องเร่งกำจัดจากระบบนิเวศ กินได้ไหม มีคำตอบ!
- เปิดอีกมุม วิกฤติ "ปลาหมอคางดำ" โอกาสชาวบ้านหลายครอบครัว สุดงงถูกห้ามจับ?
- ปลาหมอคางดำ รสชาติเป็นอย่างไร? ไอเดียเมนู Tiktok จากปลาเอเลี่ยนสปีชีส์
16 ก.ค. 2567 นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เผยว่า ในส่วนงานสัตว์น้ำ ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ โดยได้มีการทบทวนย้อนหลังสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การนำเข้าในเดือน ธ.ค. 2553 ถึงวันทำลายในเดือน ม.ค. 2554 มั่นใจได้ว่าบริษัทได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง และด้วยความรอบคอบตามหนังสือชี้แจงที่ได้นำส่งไปยัง คณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.) แล้ว
ทั้งนี้ บริษัทยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานรัฐตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ด้าน ประกอบด้วย
- 1. ทำงานร่วมกับกรมประมงในการสนับสนุนให้มีการรับซื้อปลาหมอคางดำไปผลิตเป็นปลาป่น
- 2. ทำงานร่วมกับภาครัฐในการสนับสนุนการปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ
- 3. สนับสนุนภาครัฐในการจัดกิจกรรมจับปลา
- 4. สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำร่วมกับสถาบันการศึกษา
- 5. สนับสนุนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ
สำหรับหนังสือชี้แจงไปยัง กมธ. มีรายละเอียด ดังนี้ :
ในปี 2553 บริษัทได้นำเข้าปลาจำนวน 2,000 ตัว ซึ่งพบว่ามีปลาสุขภาพไม่แข็งแรง และมีการตายจำนวนมากในระหว่างทาง ทำให้เหลือปลาที่ยังมีชีวิตแต่อยู่ในสภาพอ่อนแอเพียง 600 ตัว ซึ่งได้รับการตรวจสอบ ณ ด่านกักกันโดยกรมประมง ทั้งนี้เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงมีการตายต่อเนื่องจนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการวิจัยในเรื่องนี้ โดยมีการทำลายซากปลาตามมาตรฐานและแจ้งต่อกรมประมง พร้อมส่งตัวอย่างซากปลา ซึ่งดองในฟอร์มาลีนทั้งหมดไปยังกรมประมงในปี 2554
นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ คณะผู้ตรวจเยี่ยมจากกรมประมง เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มของบริษัท ณ จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อขอข้อมูลจำนวนลูกปลาหมอคางดำที่นำเข้าเมื่อปี 2553 และการบริหารจัดการ ซึ่งนักวิจัยของบริษัทได้รายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมฟาร์มอีกครั้ง ซึ่งนักวิจัยของบริษัทได้ชี้แจงถึงวิธีการทำลายปลาทั้งหมด โดยใช้สารคลอรีนเข้มข้นและฝังกลบซากปลาโรยด้วยปูนขาว และยืนยันว่าไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดดังกล่าว
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ