ข่าว

กรมประมง เปิด 5 มาตรการสำคัญ จัดการปลาหมอคางดำ เอเลียนสปีชีส์

17 ก.ค. 2567

กรมประมง เปิด 5 มาตรการ กำจัดปลาหมอคางดำ ปล่อยปลาผู้ล่า 2.2 แสนตัว ลงสู่แหล่งน้ำ 7 จังหวัด ช่วยรับซื้อ กก. ละ 15 บาท สร้างแรงจูงใจช่วยควบคุมการแพร่ระบาด

17 ก.ค. 2567 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยซึ่งพบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 และมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในพื้นที่ภาคกลาง เมื่อต้นปี 2567 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ทาง ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวประมง และปัญหาเชิงระบบนิเวศที่กำลังจะตามมา จึงได้มีการกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ได้ออก 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่

 

  • 1.การควบคุมและกำจัด ปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด
  • 2. การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว และปลาอีกงหรือปลาผู้ล่าชนิดอื่น เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
  • 3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น แปรรูปเป็นหลายเมนู
  • 4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่างๆ
  • 5. การประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วม ในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน โดยกรมประมงได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

 

สถานการณ์ ณ ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเพิ่มในบางพื้นที่ของ 9 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และได้รับการแจ้งว่ามีการระบาดเพิ่มอีก 2 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม และนนทบุรี รวมทั้งสิ้นเป็น16 จังหวัดที่พบการแพร่ระบาด

 

กรมประมง เปิด 5 มาตรการสำคัญ จัดการปลาหมอคางดำ เอเลียนสปีชีส์

 

มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัด ปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด

 

กรมประมง พร้อมแก้ไขกฎหมายซึ่งเป็นอุปสรรคในการใช้เครื่องมือประมงที่เหมาะสมเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ โดยมีการสำรวจข้อมูลการใช้เครื่องมือประมงที่ใช้ในการกำจัดปลาหมอคางดำ และได้มีการประกาศการอนุญาตผ่อนผันใช้เครื่องมือประมงอวนรุน ตามประกาศกรมประมง

ขณะเดียวกันได้เปิดช่องทางให้จังหวัดที่มีความต้องการขออนุญาตผ่อนผันการใช้เครื่องมือประมงเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ เสนอเรื่องผ่านมติที่ประชุมคณะทำงานฯ มายังกองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ เพื่อประกาศ ผ่อนผัน ตามเงื่อนไขและความเหมาะสม

นอกจากนี้ กรมประมงภายใต้การสั่งการของ ฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมเตรียมแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการกำหนดเครื่องมือที่ใช้ทำการประมง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำขึ้น สำหรับอำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการขอใช้เครื่องของประมงพื้นบ้าน โดยกรมประมงได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรประมงท้องถิ่น ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการควบคุม กำจัด ปลาหมอคางดำในทุกพื้นที่แพร่ระบาด

 

 

affaliate-2

มาตรการที่ 2 การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ

 

โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง โดยกรมประมงได้ปล่อยลูกพันธุ์ปลาผู้ล่าทั้งปลากะพงขาวปลาอีกง และอื่นๆ ไปแล้วจำนวนกว่า 226,000 ตัว ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร ราชบุรี และสงขลา และยังมีโครงการ จะปล่อยอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่

กรมประมงขอยืนยันว่า ปลาหมอคางดำขนาดโตเต็มวัย ไม่สามารถกินลูกพันธุ์ปลาผู้ล่าขนาด 4 นิ้วที่ปล่อยลงไปได้ และลูกพันธุ์ปลาผู้ล่าเหล่านี้สามารถกินลูกปลาหมอคางดำ ขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร เพื่อควบคุมประชากรที่มีปริมาณมากได้ โดยกรมประมงจะเลือกพันธุ์ปลาผู้ล่าและพื้นที่การปล่อย รวมถึงจำนวนการปล่อยให้เหมาะสมกับระบบนิเวศของพื้นที่ที่สุด

 

มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์

 

กรมประมง ได้ประสานสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ในพื้นที่สมุทรสาครจำหน่ายให้กับโรงงานปลาป่น 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด ราคากิโลกรัมละ 10 บาท ได้รับการจัดสรรโควตา 500,000 กิโลกรัม (500 ตัน) จำหน่ายไปแล้ว 491,687 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 4,916,870 บาท และบริษัทอุตสาหกรรมปลาป่นท่าจีน จำกัด รับซื้อราคากิโลกรัมละ 7 บาท แบบไม่จำกัดโควตา

โดยมีการรับซื้อปลาหมอคางดำจากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง คือ กรุงเทพมหานคร และราชบุรี รวมปริมาณการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำส่งโรงงาน เพื่อผลิตปลาป่น 510,000 กิโลกรัม มูลค่า 5,022,000 บาท และกรมประมงได้ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน (สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10) จัดโครงการรณรงค์การทำน้ำหมัก ชีวภาพคุณภาพสูง (สูตรไนโตรเจนสูง) รับซื้อปลาหมอคางดำราคากิโลกรัมละ 7 - 8 บาท

นอกจากนี้เครือข่ายภาคประชาชนมีการนำปลาหมอคางดำ ที่จับจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ โดยมีแหล่งรับซื้อปลาหมอคางดำ ได้แก่ แพรับซื้อปลาขนาดเล็กเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ (ปลาสด) เพื่อใช้เป็นปลาเหยื่อเลี้ยงสัตว์น้ำและปลาเหยื่อลอบปู ที่สำคัญ กรมประมงจะเร่งหาพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มช่องทางการรับซื้อ และศึกษาวิจัยประโยชน์ในด้านอื่นๆ ของปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปใช้สานต่อในอนาคต

กรมประมง เปิด 5 มาตรการสำคัญ จัดการปลาหมอคางดำ เอเลียนสปีชีส์

 

มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน

 

กรมประมง ได้ดำเนินการจัดทำระบบแจ้งตำแหน่งการพบปลาหมอคางดำในรูปแบบออนไลน์สำหรับประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทราบบริเวณที่มีการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำโดยประชาชนสามารถแจ้ง เบาะแสพิกัดที่พบการแพร่กระจาย ของปลาหมอคางดำได้ที่ https://shorturl.asia/3MbkG เพื่อเป็นข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ ติดตามและ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

 

มาตรการที่ 5. การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ

 

กรมประมง จัดให้มีการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากหน่วยงานระดับจังหวัด ได้มีคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำแล้ว สำนักงานประมงจังหวัดทั้ง 16 จังหวัด (ระบาด 14 จังหวัดและกันชน 2 จังหวัด) ดำเนินการจัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ตื่นตัว ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก

ตัวอย่างเช่น การดำเนินงานจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ในเดือนกรกฎาคม 2567 อาทิ วันที่ 10 ก.ค. 2567 จังหวัดเพชรบุรีมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาหมอ คางดำ ได้แก่ ปลาส้ม ปลาแดดเดียวและน้ำปลา

นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีแล้ว ในเบื้องต้นจะใช้เงินจากกองทุน​สงเคราะห์​การทำ​สวนยาง​ ในระหว่างที่รอของบกลาง และได้สั่งการเร่งด่วนมายังอธิบดีกรมประมงให้เร่งจัดจุดรับซื้อ ปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ภายใน 1 สัปดาห์ ในราคา 15 บาท ต่อกิโลกรัม เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับประชาชน ในการมีส่วนร่วมควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด

กรมประมง เปิด 5 มาตรการสำคัญ จัดการปลาหมอคางดำ เอเลียนสปีชีส์