กรมประมง ชี้แจง ไม่พบหลักฐานเอกชน ส่งตัวอย่างปลาหมอคางดำ หลังยกเลิกวิจัย
กรมประมง ชี้แจง ไม่พบหลักฐานเอกชน ส่งตัวอย่างปลาหมอคางดำ หลังยกเลิกวิจัย จนปี 60 พบการระบาด จึงได้รับรายงานว่า ทำลายด้วยวิธีฝังกลบ เผย เตรียมปล่อยปลาหมอคางดำชุดพิเศษ 2.5 แสนตัว ผสมพันธุ์ให้เป็นหมัน มั่นใจ 3 ปี เอาอยู่
17 ก.ค. 2567 กรมประมง แถลงชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องต้นตอของการแพร่ระบาดอย่างหนักของปลาหมอคางดำในขณะนี้ ว่า ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา และได้มีการขออนุญาตนำเข้ามาในประเทศไทย อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อวิจัยปรับปรุงพันธุ์จากบริษัทแห่งหนึ่ง
ซึ่งในขณะนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบเรื่องสุขอนามัยของสัตว์น้ำที่ผู้นำสัตว์น้ำทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นการควบคุมโรคสัตว์น้ำมิให้มีแพร่การระบาด
ดังนั้น หากภาคเอกชนใดต้องการนำเข้ามาในประเทศ ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่โดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นทางวิชาการจากคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง (IBC)
และเมื่อได้รับอนุญาตนำเข้าแล้ว เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์น้ำกรมประมง จะดำเนินการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำนั้น จนสู่แหล่งทดลองที่ได้รับการอนุญาต นั่นคือกระบวนการที่บริษัทดังกล่าวดำเนินการขออนุญาตอย่างถูกต้อง เพื่อนำเข้ามาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบเรื่องสุขอนามัยของสัตว์น้ำเป็นหลัก
ซึ่งภายหลังบริษัทดังกล่าวฯ ยกเลิกการทำวิจัย และไม่ได้แจ้งต่อกรมประมงในการจัดการทำลายตัวอย่างตามเงื่อนไข ที่กรมประมงกำหนด ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่เลี้ยงของบริษัท ในช่วงพบการแพร่ระบาดในปี 2560 ของเจ้าหน้าที่กรมประมง จึงได้รับรายงานว่าได้ทำลายตัวอย่างทั้งหมดโดยการฝังกลบ
จากที่เป็นประเด็นในสื่อต่างๆ ว่า กรมประมงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวอย่างปลาหมอคางดำ ที่ใช้ในการวิจัยจากบริษัทดังกล่าวที่ฟาร์ม จำนวน 50 ตัวอย่าง และต้องการให้กรมประมงนำตัวอย่างดังกล่าวมาตรวจสอบว่ามี DNA ตรงกับปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้หรือไม่
กรมประมงได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสาร หรือหลักฐานการรับมอบตัวอย่างในสมุดลงทะเบียนรับตัวอย่าง และฐานข้อมูลในระบบ ตั้งแต่ที่มีการนำเข้าจนถึงปี 2554 ไม่พบหลักฐานการรับตัวอย่าง และขวดตัวอย่างดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส ได้มีข้อสั่งการอย่างเร่งด่วนให้กรมประมงแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ หากกรมประมงพบหลักฐานใดๆ เพิ่มเติม จะเร่งดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการเพื่อหาต้นตอ และหาข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม
สำหรับปัจจุบันการป้องกันการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่นกรมประมงได้มีการบังคับใช้กฎหมายภายใต้มาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยปลาหมอคางดำเป็น 1 ใน 13 ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง
อนึ่ง มาตรา 144 ได้กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่ากระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้มีการปรับปรุงกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรที่สำคัญ
ในระยะยาวกรมประมงจะนำ "โครงการวิจัย การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ" โครงการดังกล่าวฯ กรมประมงได้มีแนวทางในการควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ ด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์ โดยการศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n)
จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ ลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติ ที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) การผสมพันธุ์นี้จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำ ที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) ซึ่งลูกปลาที่มีโครโมโซม 3 ชุดนี้จะกลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้
ในเบื้องต้นของการศึกษานี้จะทดลองในบ่อทดลองเลียนแบบธรรมชาติภายในศูนย์วิจัย และพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี และจะทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัว ภายในระยะเวลา 15 เดือน (ก.ค.2567 - ก.ย. 2568) คาดว่าสามารถเริ่มปล่อยพันธุ์ปลาได้อย่างช้าสุดในเดือน ธ.ค. 2567 อย่างน้อยจำนวน 50,000 ตัว
และเมื่อดำเนินการควบคู่กับวิธีการควบคุมอื่นๆ เช่น การใช้ปลาผู้ล่า และการจับปลา ไปใช้ประโยชน์ ก็จะส่งผลให้การเพิ่มจำนวนปลาหมอคางดำรุ่นใหม่ลดลงจนสามารถควบคุมการระบาดได้ในอนาคต ภายใน 3 ปี
ที่มา : ประชาสัมพันธ์ กรมประมง