ข่าว

“ธรรมนัส” หารือ “เชฟชุมพล” รังสรรค์เมนูเด็ด ปลาหมอคางดำ ขึ้นโต๊ะครม.

พร้อมเสิร์ฟ ครม. “ธรรมนัส” เตรียมคุย “เชฟชุมพล” รังสรรค์เมนูเด็ด ปลาหมอคางดำ ขึ้นโต๊ะรัฐมนตรี คาดสัปดาห์หน้าได้กินแน่

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 22 ก.ค.2567 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ หลังเข้าสังเกตการณ์ขั้นตอนการรับซื้อ ปลาหมอคางดำ ที่จุดรับซื้อปลาหมอคางดำ (แพนายวิชาญ เหล็กดี) พร้อมรับชมวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ

โดยบอกว่าสังเกตว่าขณะนี้ได้มีการจับ ปลาหมอคางดำ ในลักษณะที่ไซด์เล็กลง จึงคิดว่ามาถูกทางแล้ว พร้อมยืนยันที่จะเดินหน้าในการปล่อยปลากระพงขาว ซึ่งเป็นปลานักล่าต่อไป แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนการช็อตไฟฟ้าขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย

 

ขณะที่ก่อนขึ้นรถกลับ ร.อ.ธรรมนัส ได้เปิดเผยว่า เตรียมที่จะพูดคุยกับ เชฟชุมพล แจ้งไพร ในการผลักดัน ปลาหมอคางดำ ให้เป็นเมนูปลาร้า ซึ่งเป็นซอฟพาวเวอร์คนอีสาน เพื่อสร้างมูลค่าและมีแนวคิดที่จะนำเมนูปลาหมอคางดำ ไปให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ลิ้มลองรสชาติ ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้า

ปลาหมอคางดำ

ขณะที่เวลา 15.00 น. ที่สมาคมการประมงสมุทรสาคร อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ร.อ.ธรรมนัส พร้อมด้วยข้าราชการจากกรมประมง เดินทางมารับฟังปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำใน จ.สมุทรสาคร พร้อมกันนี้ได้มีการพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มชาวประมงจาก 16 จังหวัดอ่าวไทย ที่ได้รับผลกระทบด้วย โดยการประชุมใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

 

ก่อนที่ ร.อ.ธรรมนัส จะออกมาให้ข้อสรุป ว่า สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน 9 ข้อ โดยมีสาระสำคัญคือ การระบาดเป็นภัยต่อสัตว์น้ำจืดน้ำเค็มและชาวประมงท้องถิ่น รัฐต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ผ่านการเสนอรัฐบาลให้เป็นวาระแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ โดย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้เสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพรุ่งนี้ (23 ก.ค.)

 

ส่วนหลักปฏิบัติจะมีการออกประกาศมอบหมายให้ประมงจังหวัดในแต่ละพื้นที่ได้ขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องการใช้เรือและอุปกรณ์ ในการล่าปลาหมอคางดำ โดยให้กรมประมงออกประกาศ ซึ่งหากจำเป็นต้องออกประกาศเป็นกระทรวง ก็ต้องทำให้ด่วนที่สุด

 

ส่วนการรับซื้อของการยางแห่งประเทศไทย จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท และมีค่าบริหารจัดการให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งชาวประมงและจุดรับซื้อเพิ่มอีก 5 บาท ซึ่งรวมแล้วกิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งกรมประมงแต่ละจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ

 

ส่วนกรณีที่อนุกรรมการฯ ตั้งคำถามว่าควรชัดเจนในการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ระบุว่า เรื่องนี้ต้องให้กรมประมงแต่ละจังหวัดไปสำรวจ และลองดูว่างบประมาณเท่านี้ จะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อต้นตอของปัญหา ไม่ว่าจะรายละเอียดการนำเข้า-การแพร่กระจาย ทุกอย่างจะดำเนินการตรวจสอบให้เสร็จสิ้นภายในกรอบระยะเวลา 7 วันทำการ โดยจะเริ่มต้นกระบวนการตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (23 ก.ค.) เป็นต้นไป

 

"ผมไม่อยากให้นักวิชาการ วิจารณ์ออกมาอย่างไม่ตรงกับแนวทางของกรมประมง ถ้าไม่มีข้อกฎหมายก็ต้องมาดูว่าจะรับผิดชอบกับสังคมอย่างไร หากไม่ทราบข้อเท็จจริงอย่าพูดให้หมิ่นเหม่ ขอให้รอ 7 วัน ทำการก่อน

 

ร.อ.ธรรมนัส ย้ำอีกว่า กรมประมงประกาศ ห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำเด็ดขาด ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษอาญาจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้ การแก้ปัญหา ในที่ประชุมนำเสนอว่าควรถอดบทเรียนจากประเทศอื่นที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ของไทยขอใช้วิธีการจับและทำตามมาตรการที่วางไว้ ถ้าไม่ได้ผลต้องมาคุยกันอีกที รวมทั้งเขตอภัยทาน กรมประมงประกาศยืนยันว่าไม่มีการยกเว้นต้องล่าได้ทุกที่ รวมทั้งจะเริ่มวางกรอบการขึ้นทะเบียนให้นักล่าทั้งหลาย จะทำมั่วซั่วไม่ได้ ต้องมีหลักมีกรอบในการทำงาน ตอนนี้เจ้าหน้าที่คณะกรรมการได้มีการเรียกตรวจสอบนำส่งออกปลาหมอประเภทสวยงาม 11 ถึง 12 บริษัท ก็ได้เริ่มทยอยเข้ามาให้ข้อมูล

 

ขณะที่ นายณัฐชา ได้กล่าวภายหลังจากการพูดคุย ว่าการหารือวันนี้ ความขัดเจนคือความไม่ชัดเจนในเรื่องงบประมาณ ส่วนตัวมองว่าตอนนี้คือสถานการณ์การแพร่ระบาด ถือเป็นภัยพิบัติร้ายแรงที่สุด แต่งบประมาณอยู่ในระดับกำจัดปลวก (50 บาท จากการยางแห่งประเทศไทย) มีนักวิชาการออกมาประเมินแล้วว่ามูลค่าความเสียหายเกิน 1 หมื่นล้านบาท

 

โดยหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ร.อ.ธรรมนัส และคณะ ได้ลงพื้นที่บริเวณจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ จ.สมุทรสาคร ณ แพนายวิชาญ เหล็กดี พร้อมชมการสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ

ข่าวยอดนิยม