ข่าว

ซัดเดือดกลางวงประชุมแก้น้ำท่วมตราด ไม่ใช่เทวดา

ซัดเดือดกลางวงประชุมแก้น้ำท่วมตราด ไม่ใช่เทวดา

22 ก.ค. 2567

เดือดกลางวงประชุมแก้ปัญหาน้ำท่วมตราด หัวหน้าชลประทาน ปะทะกับ นายกเทศมนตรี ร้อนถึงรองเลขาฯสทนช. คนกลางห้ามศึก

วงประชุมแก้ปัญหาน้ำท่วมตราด

22 ก.ค. 2567 ที่ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ตราด นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่จังหวัดตราด ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด นายเกรียงไกร ปัญญาพงศธร นายอำเภอเมืองตราด นายธำรงศักดิ์ นคราวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตราด โครงการชลประทานจังหวัดตราด นายสุรศักดิ์ ภูติภัทร์ นายกเทศมนตรีเมืองตราด นายกิตติพงษ์ อยู่ละออ นายเทศมนตรีตำบลหนองเสม็ด และนายกนก ใจรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังกระแจะ ในการเรื่องของการบริหารจัดการน้ำสระสีเสียด (อ่างเก็บน้ำเขาระกำตอนล่าง) เพื่อ แก้ปัญหา น้ำท่วม ตราด 

 

โดย นายขรรค์ชัย ไชยคง หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ โครงการชลประทานตราด ได้ชี้แจงรายละเอียดและสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขาระกำตอนล่าง (สระสีเสียด) ช่วงวันที่ 19 21 กรกฎาคม 2567 โดยวันที่ 19 กรกฎาคม จะมีฝนตกลงอย่างหนัก และได้มีการลดระดับประตูระบายน้ำลง ตามการร้องขอ เพื่อให้ในเมืองระบายน้ำได้ตามปกติ (19 ก.ค.67) น้ำท่วมเมืองตราดครั้งแรก จากฝนตกหนัก)

และเมื่อหมดฝนได้เปิดประตูระบายน้ำอ่างฯ สู่คลองบางพระทันที ในช่วงเวลา 07.00 น. วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 (ก่อนปล่อย น้ำในอ่างมีระดับสูงถึง 3.61 เมตร จากจุดระดับวิกฤต 3.85 เมตร) จนถึงเวลา 09.00 น. ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 ฝนตกหนักอีกรอบ แต่การระบายน้ำในช่วง 24 ชม.ก่อน พร่องน้ำในอ่างได้เพียง 1 เมตรเท่านั้น เหลือ 2.90 เมตร และในเวลาเพียง 5 ชั่วโมง ระดับน้ำในอ่างที่เกิดจากฝนตกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทะลุระดับวิกฤติ 3.85 เมตร ในเวลา 15.00 น. และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4 เมตร ในช่วงเวลา 17.00 น. ทำให้ชลประทานตราด ต้องเปิดประตูระบายน้ำ 80% เร่งระบายน้ำในอ่าง เพื่อเสถียรภาพและอาคารประตูน้ำ

 

พร้อมแจ้งเตือนไปยังท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำให้แจ้งประชาชนทราบ ซึ่งหลังจากเปิดประตูระบายน้ำเพิ่ม ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองสูงถึง 2.50 เมตร ทำให้พื้นที่ท้าย น้ำท่วม รวมไปถึงพื้นที่โครงการชลประทานตราดท่วมเช่นกัน ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุน ทำให้การระบายน้ำรอบนี้เกิดน้ำท่วม ซึ่งหากไม่เปิดประตูระบายน้ำเพิ่มนั้น และปล่อยให้น้ำล้นอ่าง จะส่งผลกระทบมากกว่านี้ และวันนี้ ยังคงปล่อยน้ำ 80% เหมือนเดิม เพื่อรองรับน้ำฝนที่กำลังจะมาในช่วง 2-3 วันนี้ ซึ่งการระบายน้ำในครั้งนี้ ระบายน้ำได้มากกว่าครั้งแรก (วันที่ 20 ก.ค.67)

ส่วนอ่างเก็บน้ำเขาระกำ ตอนบน ณ เวลานี้ ยังยืนยันว่า จะไม่มีการระบายน้ำลงมาและไม่ปล่อยลงมาซ้ำเติมในตอนนี้ เพราะต้องระบายน้ำในอ่างตัวล่างเอาไว้ก่อน ส่วนน้ำในอ่างเก็บน้ำสระสีเสียดนั้น มาจากน้ำที่ไหลเข้าอ่างจากฝนที่ตกลงมาเท่านั้น เพราะอ่างสามารถจุได้เพียง 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร หากฝนตกลงมาแค่ 100 มม. เท่ากับ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องพร่องน้ำออกจากอ่างเพื่อรักษาเสถียรภาพอ่างไว้ และอยากให้ท้องถิ่นเข้าใจการบริหารจัดการน้ำของทางชลประทาน เราไม่คิดว่าเราจะไปสร้างความเดือนร้อนให้ใครนายขรรค์ชัย กล่าว

 

ส่วนในเรื่องของการประชาสัมพันธ์นั้น นายขรรค์ชัย ชี้แจงว่า ทางชลประทานตราด ได้มีประชาสัมพันธ์ตลอด แต่การประชาสัมพันธ์อาจเข้าไม่ถึง เพราะช่องทางน้อย (มีภาพประชาสัมพันธ์ผ่านเพจชลประทานตราด) ส่วนเอกสารประชาสัมพันธ์ ก็มีแต่ช้าอาจจะต้องเวลาวันต่อวัน แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาในการสื่อสาร แต่เป็นปัญหาของ ข้อมูลการสื่อสารมากกว่า

 

“ซึ่งประเด็นสอบถาม ว่าน้ำจะขึ้นกี่เมตร กี่เซน ถ้าผมเป็นเทวดาผมบอกได้ครับขนาดอุตุเอง เวลาเตือน ยังเตือนเป็นภาพกว้าง ซึ่งในส่วนของพื้นที่ จะต้องรู้อยู่แล้ว จะต้องแจ้งเตือนขนาดไหน แต่จะให้บอกว่าขึ้นเมตรหรือสองเมตร หรือฝนเท่าไร เราบอกไม่ได้ น้ำทะเลจะหมุนจะมาถึงคลองบางพระหรือป่าว เพราะน้ำทะเลหนุน เป็นระดับน้ำที่มาจากอำเภอแหลอมงอบ ที่ไหลเข้าแม่น้ำตราด และจะเจอคลองบางพระ ซึ่งแม่น้ำตราด ก็รับน้ำจากตอนเหนืออีก คือเขาสมิง บ่อไร่ ซึ่งชลประทานจะติดตามสถานการณ์ พร้อมแจ้งเตือนไปยังท้องถิ่นว่าจะปล่อยน้ำในระดับไหน

 

ขณะที่นายสุรศักดิ์ ภูติภัทร์ นายกเทศมนตรีเมืองตราด ได้ตอบโต้คำชี้แจงว่า ตนเองสอบถามเรื่องเทรดหรือแนวโน้ม ผมไม่ได้ต้องการให้เทวดามาช่วย ขอแค่ทราบแนวโน้มว่า เปิดแบบนี้แล้วจะเป็นอย่างไร ผมจะได้บอกประชาชนได้ ผมไม่ต้องการเทวดามาช่วยผม ผมช่วยกันได้ ถ้าผมรู้ ผมจะได้บอกชาวบ้านว่า รถที่จอดไว้ให้เอาออกไปเถอะ มอเตอร์ไซต์ช่วยขนไป คนพิการช่วยขนไป แต่เขาไม่รู้ว่าจะสูงขนาดไหน ผมไม่ได้ขอรายละเอียดมาก ซึ่งชลประทานก็แจ้งมาตลอดว่า จะเปิดประตูระบายน้ำขึ้นอีก ผมก็แค่ขอว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร วันนี้ผมไม่ได้มาชวนทะเลาะ แต่พูดมาเหมือนจะชวนทะเลาะกัน

 

หลังจากที่นายสุรศักดิ์ ภูติภัทร์ นายกเทศมนตรีเมืองตราด พูดจบแล้ว นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยาน้ำแห่งชาติ ต้องพูดเบรกอารมณ์ทั้งสองฝ่าย และอย่างที่นายกเทศมนตรีเมืองตราด พูดถูก ว่าการนำเสนอวันนี้ เพื่อความเข้าใจเรา(นายขรรค์ชัย) ต้องเบาซะนิดนึง พร้อมย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่เปิดประตูระบายน้ำวังตะโนด และส่งผลให้ปลาตาย แล้วถูกฟ้องร้อง เช่นเดียวกับกรณีการเปิดประตูระบายน้ำอ่างสระสีเสียดนั้น จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้ง 3 ตำบล ขอให้ประชาชนในที่ต่ำยกขอขึ้นที่สูง ซึ่งตรงนี้จะเป็นข้อมูลที่จะส่งไปยังท้องถิ่น หรือทางปภ. (เป็นข้อมูลสั้น ๆ แจ้งเตือน) แต่ข้อมูลในประชุมที่มีการนำเสนอวันนี้จะเป็นข้อมูลละเอียด อาจจะต้องใช้ข้อมูลเยอะ อาจจะไม่ทันในการแจ้งเตือน และต้องขอโทษนายกเทศมนตรีเมืองตราด พร้อมกับติงการทำงานของ ปภ.ตราด เป็นจุดอ่อนที่ไม่สามารถขยายการประชาสัมพันธ์ไปยังชุมชนหรืออปท.ได้

 

ซึ่งในภาวะปกติ เราสามารถประชาสัมพันธ์ข้อมูลได้ว่า การปล่อยน้ำระดับไหน จะกระทบอะไรบ้าง แต่วันนี้เข้าใจว่า ชลประทานตราด พยายามอั้นน้ำไว้ตั้งแต่แรก แต่ไม่คิดว่าลูกที่ 2 จะมาอีก เมื่อปล่อยน้ำก็ทำให้น้ำท่วม และอยากให้ทั้ง 2 ฝ่าย ปรับความเข้าใจกัน

 

ขณะที่นายธำรงศักดิ์ ชี้แจงเรื่องนี้ว่า นายขรรค์ชัย อาจจะใช้คำพูดที่รุนแรง ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นอย่างนั้น พอเกิดเหตุการณ์เมื่อไร ชลประทานจะโดนลำดับแรก ว่าปล่อยน้ำลง ทำให้น้ำในเมืองท่วม แต่ว่าสิ่งที่เราช่วยไว้ ช่วยชะลอ ช่วยอั้นไว้ แล้วสร้างความเสี่ยงให้กับตนเอง และอย่างอ่างเก็บน้ำเขาระกำตอนบน มีความเสี่ยงแล้ว เหลืออีกแค่ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำก็จะล้นสปิงค์เวย์แล้ว ซึ่งชลประทานตราด ไม่เปิดประตูระบายน้ำมา 3 วันแล้ว คือ เป็นศูนย์

 

แล้วถ้าฝนลูกต่อไปเข้าตราด ยังไงชลประทานตราด ก็ต้องเปิดน้ำจากอ่างลงมา และบอกไม่ได้เลยว่าจะหนักกว่าหรือไม่ แล้วสระสีเสียดวันนี้ไม่ตัดสินใจยกประตูบานวันนี้ อาจจะทำให้น้ำล้นถนน (ถนนสูง 4.20 เมตร น้ำในอ่างสูง 4.10 เมตร) ซึ่งเวลานี้ ต้องปล่อยน้ำให้เหลือแค่ 1.5-1.8 เมตรให้ได้ แต่ตอนนี้ยังอยู่ที่ 2.8 เมตร แต่ถ้าวันนี้ ไม่สามารถลดน้ำในอ่างได้ตามเป้า ฝนตกรอบหน้า น้ำอาจจะท่วมหนักกว่านี้

 

แต่จะให้ชลประทานบอกว่าน้ำขึ้นเท่าไร เราบอกไม่ได้ แต่เราแจ้งไปแล้วว่า น้ำทะเลจะหนุน ยังไงระดับน้ำต้องสูงขึ้น แต่ผมเข้าใจชาวบ้านว่า การเปิดประตูระบายน้ำจะทำให้เข้าเสียหายขนาดไหน เพราะเขาอยากรู้ว่ากี่เมตร ซึ่งตรงนี้เราบอกไม่ได้ และจะมาว่าเราว่าจะขึ้นกี่เมตร เราก็บอกไม่ได้ แต่ทางท้องถิ่นต้องไปประชาสัมพันธ์ให้กับชาวบ้านให้เข้าใจด้วย หรืออาจจะแจ้งเผื่อไปว่าน้ำขึ้นกี่เมตรก็แล้วแต่ แต่จะให้ชลประทานชี้อย่างเดียวเลยว่า ขึ้นเท่าไร เราตอบไม่ได้

 

แต่ผมไม่ได้ชวนทะเลาะ และเข้าใจการทำงานของทุกฝ่าย และทุกภาคส่วนก็ต้องเข้าใจการทำงานของชลประทานด้วย

 

จากนั้น นายสุรศักดิ์ ชี้แจงต่อว่า ตนเองไม่ได้ว่าชลประทานเป็นแพะ แต่การที่ชลประทานชี้แจงมา เหมือนจะสื่อมาในลักษณะที่ตนเองกล่าวหาว่าเป็นแพะ แต่ผมพูดไปว่า ที่น้ำท่วมมันมีอยู่ 2 คลอง กับ 1 แม่น้ำ ซึ่งผมจะสื่อแบบนี้ ไม่ใช่ว่าฝนตกแล้วน้ำท่วมมันไม่ใช่ อิทธิพลจากการปล่อยน้ำมันมี แต่คนจะด่านายก ทำไมไม่ดูแล ผมบอกไปว่า เทศบาลเมืองตราด อยู่ภายใต้อิทธิพลของ 2 คลองกับ 1 แม่น้ำนี้ แต่ท่านบอกว่าผมไปกล่าวหาว่าท่านเป็นแพะ มันไม่ใช่

 

ครั้งแรกที่ท่วม(19 ก.ค.67) ผมชี้แจงอย่างนี้นะครับ แต่ครั้งที่ 2 ประชาชนเรียนรู้แล้ว แต่ท่านเหมือนว่า ผมไปว่าท่าน แต่ท่านกลับพูดว่าเดี๋ยวจะปล่อยให้ท่วมไปเลย เรื่องนี้เข้าหูผม ผมก็ไม่โอเคในเรื่องนี้ ท่านเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ไม่น่ามาพูดกันเล่น ๆ แบบนี้

 

จากนั้น เวลา 13.30 น. นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยาน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่อ่างเก็บน้ำสระสีเสียด อ.เมือง จ.ตราด ซึ่งพบว่า ปริมาณน้ำในอ่างลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากการเปิดประตูระบายน้ำ

 

รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในคครั้งนี้ได้เน้นย้ำให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากตอนนี้จังหวัดตราดเป็นจังหวัดที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในประเทศไทย โดยตั้งแต่ช่วงเข้าฤดูฝนเป็นต้นมามีปริมาณน้ำฝนกว่า 2,000 มิลลิเมตร โดยปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมามีปริมาณฝนมากที่ตกเหนือตัวอ่างเก็บน้ำเขาระกำทั้งตอนบนและตอนล่าง ที่ต้องมีการระบายน้ำผ่านตัวเมืองตราด ผ่านคลองบางพระ

 

ทั้งนี้ สทนช. ได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งการระบายน้ำที่กระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด ตามข้อห่วงใยของรัฐบาล โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าชั่วคราวขึ้นในลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ในด้านของการเยียวยาและชดเชยส่วนที่เสียหายทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รับไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ในส่วนของทรัพย์สินจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายจะได้มีการประสานงานให้อาชีวะศึกษาจังหวัดตราด เข้ามาช่วยเหลือในการซ่อมแซมให้กับประชาชน ทั้งนี้ในส่วนของการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนทาง สทนช.จะได้ประสานหน่วยงานภาครัฐให้ดำเนินปรับการแจ้งเตือนให้เข้าถึงพี่น้องประชาชนได้มากที่สุด ล่วงหน้าอย่างน้อย 6 ชั่วโมง