ข่าว

ลุ้น "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" ขึ้นทะเบียนมรดกโลก 27 ก.ค. นี้ ชมสดที่นี่

ลุ้น "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" ขึ้นทะเบียนมรดกโลก 27 ก.ค. นี้ ชมสดที่นี่

26 ก.ค. 2567

เปิดข้อมูล "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" จ.อุดรธานี ลุ้นขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม 27 ก.ค. นี้ ชมสดจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

26 ก.ค. 2567 ที่ บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี เขตเทศบาลนครอุดรธานี เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรจัดเตรียมสถานที่ถ่ายทอดสดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลก โดยพื้นที่นำเสนอประกอบด้วย 2 พื้นที่ คือ 1.อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และ 2.แหล่งวัฒนธรรมสีมา

ภายในงานมีนิทรรศการอุทยานวประวัติศาสตร์ภูพระบาท และยังมีแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง มีการแสดงศิลปะวัฒนธรรม เพื่อให้คนที่มาร่วมงานเข้าชม ซึ่งพรุ่งนี้นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ จะมาเดินทางมาร่วมชมการประชุมฯ

 

ลุ้น \"อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท\" ขึ้นทะเบียนมรดกโลก 27 ก.ค. นี้ ชมสดที่นี่

นายจรูญ บุหิรัน นายอำเภอบ้านผือ กล่าวว่า สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ได้แจ้งเสนอให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์การนำเสนอคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล คือ เกณฑ์ข้อที่ 3 และ ข้อที่ 5 ในกลุ่มภูมิทัศน์วัฒนธรรม และเสนอให้ขึ้นทะเบียนภายใต้ชื่อใหม่ "ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี"

ซึ่งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จะเป็นแห่งที่ 8 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี ต่อจากมรดกโลกบ้านเชียง โดยจะทราบผลในวันพรุ่งนี้ (27ก.ค. 67) และจะประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ล่าสุด เพจอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท แจ้งกำหนดการประกาศผลภูพระบาทเป็นมรดกโลก ตรงกับ 27 ก.ค. เริ่มเปิดประชุมตรงกับเวลาในไทย 11.30 น. ภูพระบาทอยู่ในลำดับที่ 6 ภาคเช้าของการประชุม สามารถเข้าชมผ่านลิงก์ (คลิกที่นี่) 

 

เปิดข้อมูล "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" 

 

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่าภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นเทือกเขาหินทราย อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางประมาณ 320 - 350 เมตร สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง มีพืชพันธุ์ธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุม

จากการสำรวจทางโบราณคดีที่ผ่านมาได้พบว่าบนภูพระบาทแห่งนี้ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กำหนดอายุได้ราว 2,500 - 3,000 ปีมาแล้ว ดังตัวอย่างการค้นพบภาพเขียนสีอยู่มากกว่า 54 แห่งบนภูเขาลูกนี้ นอกจากนี้ก็ยังพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้างและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ซึ่งร่อยรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้กรมศิลปากรจึงดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขนาดพื้นที่ 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนาแหล่งจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด และได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2535 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด

 

ลุ้น \"อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท\" ขึ้นทะเบียนมรดกโลก 27 ก.ค. นี้ ชมสดที่นี่

 

ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปกร กระทรวงวัฒนธรรม มีโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 78 แห่ง มีภารกิจหลักในการดูแลรักษา อนุรักษ์และพัฒนา และทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโบราณสถานและโบราณวัตถุที่อยู่ภายในพื้นที่อุทยานฯและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งยังเปิดให้บริการในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่มีจุดเด่นแตกต่างจากแห่งอื่นๆ เนื่องจากโบราณสถานส่วนมากที่พบอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ โดยโครงสร้างแล้วเกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธรณีสัณฐานของพื้นที่ ต่อมามนุษย์ในอดีตได้เข้ามาดัดแปลงเพื่อสนองต่อวัฒนธรรมในแต่ละช่วงสมัย

 

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

 

พ.ศ. 2478 ราชบัณฑิตยสภาประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มี.ค. 2478 ในขณะนั้นใช้ชื่อว่า “พระพุทธบาทบัวบก” อำเภอบ้านผือ ตำบลเมืองพาน

พ.ศ. 2516 - 2517 คณะสำรวจโบราณคดี โครงการผามอง สำนักงานพลังงานแห่งชาติ ได้สำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนผามอง เดินทางมาสำรวจพบแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่งบนภูพระบาท ซึ่งบางแห่งได้เคยสำรวจพบแล้วโดยหน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น พุทธศักราช 2524 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 98 ตอนที่ 63 วันที่ 28 เม.ย. 2524 หน้า 1214 ระบุว่า “โบราณสถานพระพุทธบาทบัวบก ที่ภูพระบาท เนื้อที่ประมาณ 19,062 ไร่ ปรากฏว่าเนื้อที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และจำนวนเนื้อที่ตามข้อเท็จจริงคือประมาณ 3,430 ไร่”

พ.ศ. 2531 ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ ขณะดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้นมีดำริเห็นควรดำเนินการพัฒนาพื้นที่ของภูพระบาทขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีความพร้อมหลายด้านด้วยกัน อาทิ จำนวนโบราณสถานมากมายทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ซึ่งประกาศเขตโบราณสถานแล้ว ป่าไม้ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และประติมากรรมหินตามธรรมชาติ

พ.ศ. 2532 เริ่มโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น โดยจัดทำแผนงานโครงการและจัดหางบประมาณมาดำเนินการอนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดีและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก

พ.ศ. 2535 กรมศิลปากรกราบทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535

 

 

ลุ้น \"อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท\" ขึ้นทะเบียนมรดกโลก 27 ก.ค. นี้ ชมสดที่นี่

 

ลักษณะทางธรณีวิทยา

 

พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทนั้น มีลักษณะทางธรณีวิทยาอยู่ในหมวดหินภูพานของหินชุดโคราช เป็นหินทรายสีเเดงของมหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic) มีอายุตั้งเเต่ปลายยุคไทรแอสซิค (245 - 208 ล้านปี) - ครีเทเชียส (146 - 65 ล้านปี) จนถึงยุคเทอร์เชียรีของมหายุคซีโนโซอิค (65-5 ล้านปี) โดยชั้นหินทรายนี้วางตัวอยู่บนพื้นผิวของหินมหายุคพาลีโอโซอิกตอนบน (286-245 ล้านปี)

เพิงหินรูปร่างต่างๆ ที่พบในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทนั้น เกิดจากการที่ชั้นหินทรายเเต่ละชั้นมีความคงทนต่อการกัดเซาะตามธรรมชาติที่เเตกต่างกัน โดยหินทรายชั้นกลางเป็นหินทรายเนื้ออ่อนที่มีการจับตัวของผลึกเเร่ไม่เเน่น จึงสึกกร่อนจากการกัดเซาะได้ง่ายกว่าหินชั้นบนเเละชั้นล่างซึ่งเป็นหินทรายปนหินกรวดมน เนื้อเเน่นเเข็ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดเพิงหินที่มีส่วนกลางคอดเว้าคล้ายดอกเห็ด หรือสึกกร่อนจนเหลือเพียงเสาค้ำตามมุมคล้ายโต๊ะหิน กลายเป็นประติมากรรมทางธรรมชาติที่สวยงามแปลกตามองดูราวกับว่าก้อนหินเหล่านี้ถูกยกขึ้นมาวางโดยมนุษย์

ปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยาลักษณะนี้ มิได้พบเเค่ในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเท่านั้น เเต่กระจายตัวอยู่หลายเเห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เช่นที่ ภูผาเทิบจังหวัดมุกดาหาร เสาเฉลียง จังหวัดอุบลราชธานี เขาจันทร์งาม จังหวัดนครราชสีมา

 

ตำนานความเชื่อ

 

อารยธรรมที่พบบนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากการศึกษาลักษณะ และเนื้อหาสาระของภาพเขียนสีแล้ว ทำให้นักโบราณคดีมีความเห็นว่า ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในประเทศไทยนั้น มีทั้งภาพการดำรงชีวิตด้วยการหาของป่าล่าสัตว์เเละภาพการทำเกษตรกรรม จึงน่าจะมีอายุในช่วงราว 3,000 – 2,500 ปีมาเเล้ว ซึ่งเป็นสมัยที่มนุษย์รู้จักการทำเกษตรกรรมเเละการทำเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะเเล้ว

ภาพเขียนสีที่พบบนภูพระบาทมีทั้งเเบบเขียนด้วยสีเดียว (Monochrome) คือสีเเดง เเละหลายสี (Polychromes) คือสีเเดง ขาว เหลือง ตัวภาพเเบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

 

  • 1. ภาพเสมือนจริง (ภาพคน, สัตว์, พืช, สิ่งของ)
  • 2. ภาพนามธรรม (ภาพสัญลักษณ์, ลายเรขาคณิต)

 

สีที่นำมาใช้เขียนนั้น สันนิษฐานว่าเป็นสีที่นำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติเช่น ดินเทศ แร่เฮมาไทต์ โดยอาจนำสีที่ได้นี้ไปผสมกับของเหลวที่มีคุณสมบัติเป็นกาว เช่น ยางไม้ เสียก่อนเเล้วจึงนำมาเขียน เพื่อให้สีติดกับเพิงหินทนนาน

 

ลุ้น \"อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท\" ขึ้นทะเบียนมรดกโลก 27 ก.ค. นี้ ชมสดที่นี่

 

ยุคประวัติศาสตร์
 

พื้นที่บนภูพระบาท เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 หรือราว 1,400 - 1,000 ปีมาแล้ว ได้รับเอาวัฒนธรรมทวารวดีที่แพร่มาจากภาคกลางของประเทศไทย พร้อมกับคติความเชื่อทางพุทธศาสนา ทำให้เกิดการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เนื่องในพุทธศาสนาขึ้น ได้แก่ การตกแต่งหรือดัดแปลงเพิงหินให้เป็นศาสนสถาน โดยมีรูปแบบการติดตั้งใบเสมาหินทรายล้อมรอบเอาไว้

ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 18 อิทธิพลศิลปกรรมแบบเขมร ซึ่งแพร่หลายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้เข้ามามีบทบาทในแถบนี้ ที่ถ้ำพระมีการตกแต่งสกัดหินเป็นรูปพระโพธิสัตว์และรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเขมร ที่วัดพระพุทธบาทบัวบานและที่วัดโนนศิลาอาสน์ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับภูพระบาท มีการสลักลวดลายบนใบเสมาหินทรายเป็นเรื่องพุทธประวัติและชาดก ซึ่งมีลวดลายตามรูปแบบศิลปกรรมแบบเขมร

หลังจากช่วงสมัยทวารวดีและเขมรผ่านไป ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 – 23 วัฒนธรรมล้านช้าง ได้แพร่เข้ามาที่ภูพระบาท พบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปเช่น พระพุทธรูปที่ถ้ำพระเสี่ยง ส่วนด้านสถาปัตยกรรมพบหลักฐานที่วัดลูกเขย
 

นิทานพื้นบ้านเรื่อง “อุสา – บารส”
 

ผู้คนในท้องถิ่นได้นำเอานิทานพื้นบ้านเรื่อง “อุสา – บารส” มาตั้งชื่อโบราณสถานที่ต่าง ๆ บนภูพระบาท การเที่ยวชมโบราณสถานบนภูพระบาทจึงควรต้องรู้เกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ เพื่อจะได้เข้าใจที่มาของชื่อตลอดจนทราบถึงคติความเชื่อของชุมชนได้เป็นอย่างดี

เนื้อเรื่องเป็นเรื่องราวความรักอันไม่สมหวังระหว่างนางอุสา ธิดาของท้าวกงพาน กับท้าวบารส ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าเมืองปะโคเวียงงัว โดยเรื่องราวเริ่มจากนางอุสาได้ทำการเสี่ยงทายหาคู่ ด้วยการทำมาลัยรูปหงส์ลอยไปตามลำน้ำ ซึ่งท้าวบารสเป็นผู้ที่เก็บได้ จึงออกตามเจ้าของมาลัยเสี่ยงทายนั้น จนมาถึงเมืองพานและได้พบกับนางอุสา ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน เมื่อท้าวกงพานทราบเรื่องจึงวางอุบายให้มีการแข่งขันสร้างวัดกันภายในหนึ่งวัน โดยผู้ที่แพ้การแข่งขันจะต้องตาย

ฝั่งท้าวบารสเสียเปรียบเพราะมีคนน้อยกว่า จึงใช้เล่ห์กลอุบายนำโคมไฟไปแขวนบนยอดไม้เพื่อลวงให้ฝ่ายท้าวกงพานคิดว่าเป็นยามเช้าตรู่แล้ว จึงพากันเลิกสร้างวัดและพ่ายแพ้ไปในที่สุด และถูกตัดศีรษะ หลังจากนั้นนางอุสา ได้ไปอยู่กับท้าวบารสที่เมืองปะโคเวียงงัว แต่ก็ถูกกลั่นแกล้งจึงหนีกลับเมืองพาน

ในขณะที่ท้าวบารสไปบำเพ็ญเพียรในป่าเพียงลำพัง ต่อมาเมื่อท้าวบารสทราบเรื่องจึงได้ออกเดินทางไปตามนางอุสา ณ เมืองพาน แต่พบว่านางอุสาได้สิ้นใจเพราะความตรอมใจไปก่อนหน้านั้นแล้ว ท้าวบารสเสียใจอย่างสุดซึ้งจึงตรอมใจตายตามนางอุสาไป

ลุ้น \"อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท\" ขึ้นทะเบียนมรดกโลก 27 ก.ค. นี้ ชมสดที่นี่
 

 

 

ขอบคุณข้อมูล : สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม