ข่าว

สภาทนายความ จ่อฟ้องแพ่ง-คดีปกครอง แทนชาวบ้าน 16 จังหวัด ได้รับผลกระทบปลาหมอคางดำ

สภาทนายความ จ่อฟ้องแพ่ง-คดีปกครอง แทนชาวบ้าน 16 จังหวัด ได้รับผลกระทบปลาหมอคางดำ

31 ก.ค. 2567

สภาทนายความ เตรียมฟ้องเอกชน-หน่วยงานรัฐ คดีแพ่ง-ปกครอง แทนชาวบ้าน 16 จังหวัด ได้รับผลกระทบจาก "ปลาหมอคางดำ" ไม่เกิน 16 ส.ค. นี้

31 ก.ค. 2567 ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วย นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ, นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ, ว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  ร่วมแถลงข่าวเตรียมยื่นฟ้องหน่วยงานภาครัฐและเอกชน กรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ

ดร.วิเชียร นายกสภาทนายความ เปิดเผยว่า ตามที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านในตำบลยี่สาร ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ว่าได้รับความเสียหายจากการระบาดของปลาหมอคางดำที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ และในพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้าน

และสภาทนายความ ได้ตั้งประธานสภาทนายความทนายความจังหวัดรวม 16 จังหวัด เป็นผู้แทนของสภาทนายความ เพื่อร่วมประชุมกับส่วนราชการ กำหนดวิธีแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน ต่อมามีชาวบ้านในจังหวัดอื่นๆ ได้ยื่นขอความช่วยเหลือทางกฎหมายเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม

สภาทนายความ จ่อฟ้องแพ่ง-คดีปกครอง แทนชาวบ้าน 16 จังหวัด ได้รับผลกระทบปลาหมอคางดำ

 

จากการสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานสภาทนายความ พบว่า ปลาหมอคางดำซึ่งเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ได้รับอนุญาตจากการประมงให้นำเข้าเพื่อการทดลองศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ โดยมีผู้ประกอบการแห่งหนึ่งเป็นผู้ขออนุญาตนำเข้า และมีการนำเข้ามาศึกษาทดลองเลี้ยงในปีพ.ศ. 2553 ที่ศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของบริษัทผู้ประกอบการแห่งหนึ่งย่านจังหวัดสมุทรสงคราม และพบการระบาดของปลาหมอคางดำในปี พ.ศ.2560 เป็นต้นมา โดยเริ่มระบาดครั้งแรกที่ ต.ยี่สาร ต.แพรกหนามแดง  อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม และจากการศึกษาพบว่าสายพันธุ์การระบาดของปลาหมอคางดำมาจากจุดร่วมสายพันธุ์เดียวกัน

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความ และคณะกรรมการสำนักงานคดีปกครอง จึงกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในสองแนวทาง คือ การดำเนินคดีแพ่งกับผู้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย โดยดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ของชาวประมง และเรียกค่าเสียหายจากการที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ตามหลัก "ผู้ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นผู้จ่าย"

การดำเนินคดีปกครองกับหน่วยงานอนุญาตที่ละเลย ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นการทำละเมิดทางปกครองและให้หน่วยงานอนุญาตจัดการแพร่ระบาดและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป โดยให้เรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากผู้ก่อให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ รวมทั้งค่าเสียหายจากการที่ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
 

สภาทนายความ จ่อฟ้องแพ่ง-คดีปกครอง แทนชาวบ้าน 16 จังหวัด ได้รับผลกระทบปลาหมอคางดำ

 

นายกสภาทนายความ กล่าวย้ำว่า  เราจะยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย บางคดีศาลแพ่งอาจจะสั่งชดใช้ค่าเสียหายเยอะ บางคดีก็ให้ชดใช้ค่าเสียหายไม่มากนัก อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล แต่เราสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ ส่วนการยื่นฟ้องศาลปกครองนั้น จะมุ่งฟ้องหน่วยงานรัฐก่อน คาดว่าจะยื่นฟ้องไม่เกินวันที่ 16 ส.ค. นี้

ส่วนกรณีชาวบ้านผู้เสียหายเกรงว่าการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจะล่าช้า ต้องการให้พูดคุยกระทรวงมหาดไทย เพื่อออกประกาศให้ปัญหา "ปลาหมอคางดำ" เป็นภัยพิบัติแห่งชาติและเบิกงบประมาณมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ก่อนนั้น ตนรับปากว่าจะเป็นคนกลางไปเจรจาหารือกับทางกระทรวงมหาดไทยให้ชาวบ้านด้วย