ข่าว

ของจริง! รอยเท้าไดโนเสาร์ ที่ อช.ภูหินร่องกล้า อายุ 120 ล้านปี

ของจริง! รอยเท้าไดโนเสาร์ ที่ อช.ภูหินร่องกล้า อายุ 120 ล้านปี

02 ส.ค. 2567

กรมทรัพยากรธรณี ลงพื้นที่ตรวจสอบ รอยเท้าไดโนเสาร์ ที่ อช.ภูหินร่องกล้า ยืนยันของจริง เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ อายุ 120 ล้านปี

ตามที่กรมทรัพยากรธรณี ได้รับการประสานจากนายลำยอง ศรีเสวก หัวหน้า อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จากกระแสสื่อสังคมออนไลน์ว่าพบร่องรอยบนลานหินลักษณะคล้ายรอยตีนไดโนเสาร์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

เมื่อ 1 ส.ค. 2567 นางสาวดรุณี สายสุทธิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง - Phu Wiang Dinosaur Museum ได้มอบหมาย ว่าที่ร้อยตรีกฤษณะ สุดชา นักธรณีวิทยาปฏิบัติการ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับ นายโกเมศ พุทธสอน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

และผู้ค้นพบคนแรก ซึ่งเป็นครอบครัวนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการสำรวจธรรมชาติ แจ้งว่าค้นพบร่องรอยตรงนี้ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 แต่ตอนนั้นยังไม่แน่ใจ และได้เข้ามาท่องเที่ยวเดินสำรวจบริเวณนี้อยู่หลายครั้ง จนแน่ใจว่าอาจจะเป็นรอยตีนไดโนเสาร์ จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่อุทยาน และเผยแพร่ไปทางสื่อสังคมออนไลน์ตามที่เป็นข่าว

 

ของจริง! รอยเท้าไดโนเสาร์ ที่ อช.ภูหินร่องกล้า อายุ 120 ล้านปี

 

ผลการตรวจสอบเบื้องต้นจากกรมทรัพยากรธรณีพบว่าเป็นรอยตีนของไดโนเสาร์จริง ประทับอยู่บนลานหินทรายและหินโคลน จัดอยู่ในหมวดหินภูพาน ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 120 ล้านปีก่อน กระจายอยู่บนพื้นที่ประมาณ 2,500 ตารางเมตร รอยตีนไดโนเสาร์ที่พบมีจำนวนมากกว่า 10 รอย และแสดงเป็นแนวทางเดิน จำนวนอย่างน้อย 2 แนว ส่วนใหญ่เป็นรอยตีนของไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองขา กลุ่มเทอโรพอดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ แสดงรอยประทับของของนิ้วตีนข้างละสามนิ้วชัดเจน ทั้งนี้ คณะสำรวจจะลงพื้นที่สำรวจเพิ่มเติม และเก็บข้อมูลทางวิชาการ เพื่อศึกษาวิจัยต่อไป

พื้นที่บริเวณรอยตีนไดโนเสาร์ที่ค้นพบใหม่นี้ เดิมเคยเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำโบราณที่กว้างขวาง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์ดึกดำบรรพ์หลายชนิด รวมถึงไดโนเสาร์ ซึ่งเดินเพ่นพ่านไปมาตามริมแม่น้ำที่เป็นดินโคลนอ่อนนุ่ม เกิดเป็นรอยตีนประทับไปบนพื้นตะกอนเป็นแนวทางเดิน ต่อมาตะกอนเหล่านี้เริ่มแห้งและแข็งขึ้นทำให้คงสภาพรอยตีนที่ประทับลงไปได้

 

ของจริง! รอยเท้าไดโนเสาร์ ที่ อช.ภูหินร่องกล้า อายุ 120 ล้านปี

จนเมื่อถึงฤดูน้ำหลากในปีถัดไปได้พัดพาเอาตะกอนชุดใหม่มาปิดทับทำให้ร่องรอยต่างที่อยู่ตะกอนชุดเก่าถูกเก็บรักษาไว้ใต้ดิน กาลเวลาผ่านกว่าร้อยล้านปีตะกอนค่อยๆ แข็งตัวกลายเป็นหินตะกอน จำพวกหินทรายและหินโคลน ฝังอยู่ใต้ผิวโลก ต่อมากระบวนการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกทำให้ชั้นหินตะกอนเหล่านี้ถูกยกตัวขึ้นมาเป็นภูเขาสูง และถูกกัดเซาะโดยฝนและทางน้ำในปัจจุบัน ทำให้ชั้นหินที่มีรอยตีนไดเสาร์ประทับอยู่โผล่ขึ้นมาบนผิวโลก จึงเป็นเหตุว่าทำไมจึงพบรอยตีนไดโนเสาร์ประทับอยู่บนหินแข็งที่อยู่บนภูเขาสูง

 

 

พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เคยมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์รอยตีนไดโนเสาร์แล้ว บริเวณลำน้ำหมันแดง ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ห่างออกไปจากจุดที่ค้นพบใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 35 กิโลเมตร และเป็นไดโนเสาร์กลุ่มเทอโรพอดเช่นเดียวกัน

โดยบริเวณที่ค้นพบรอยตีนไดโนเสาร์แห่งใหม่ เป็นพื้นที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ใกล้กับลานกางเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ซึ่งสามารถเข้าถึงได้สะดวก และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวและพักแรมในอุทยาน เหมาะสำหรับการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยา และซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าต่อไปในอนาคต

 

ของจริง! รอยเท้าไดโนเสาร์ ที่ อช.ภูหินร่องกล้า อายุ 120 ล้านปี