เช็กพื้นที่เฝ้าระวังน้ำโขง จ.เลย หลังขึ้นพรวดวันเดียว 1 เมตร
ตรวจสอบพื้นที่เฝ้าระวังน้ำโขง จ.เลย หลังน้ำขึ้นพรวดเดียวกว่า 1 เมตรต่อวัน เตรียมรับมือน้ำป่าไหลหลาก ล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม
5 ส.ค.2567 เวลา 08.00 น. ศูนย์อุทกวิทยาที่ 2 เลย สำนักงานทรัพยากรน้ำที่3(อุดรธานี) รายงานจากสถานีวัดระดับน้ำแม่น้ำโขง ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย ว่า เวลา 07.00 น.วานนี้ถึงเวลา 07.00 น.วันนี้ วัดระดับน้ำ 12.86 ม. เพิ่มขึ้น 1.12 ม. ยังต่ำกว่าระดับวิกฤตคือ 16.00 ม. อีก 3.14 ม. จะล้นตลิ่ง
นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้จัดประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับภัยธรรมชาติในช่วงหน้าฝนนี้มาหลายครั้ง ตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเลย แจ้งเตือน พื้นที่เฝ้าระวัง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มระหว่างวันที่ 2 -8 สิงหาคม 2567
โดย พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ คือ อ.เชียงคาน และ อ.ปากชม ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง พร้อมคำแนะนำสำหรับประชาชน ติดตามข่าวสาร และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เตรียมความพร้อมยกของขึ้นชั้นบนหรือที่สูง รู้หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินหรือบุคคลสำคัญ ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า และยกเบรกเกอร์ลง เรียนรู้เส้นทางการอพยพไปที่ปลอดภัย เตรียมสิ่งของจำเป็นต่างๆ ให้พร้อม เช่น โทรศัพท์มือถือ อาหาร น้ำ ยารักษาโรค เป็นต้น แจ้งเหตุสาธารณภัย สายด่วน 1784 โทรศัพท์ /โทรสาร 042-811871 หรือ ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784 (Line ID : @1784DPM) ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านการพยากรณ์อากาศวันนี้ ปรากฏว่า จ.เลย ได้รับผลกระทบจาก มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนาม ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนัก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ส่วนปริมาณน้ำฝนวันที่ 4 ส.ค.67 ที่ผ่านมา จ.เลย มีฝนตกทั้ง 14 อำเภอ ฝนหนักที่ อ.วังสะพุง 56.9 , อุทยานแห่งชาติภูเรือ 57.1 , เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง 57.5 , อ.นาแห้ว 61.2 , ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเลย 81.0 , และหนักมากที่ อ.ภูเรือ 115.0 มม. จนเกิดน้ำป่าไหลหลากจากภูเขา ที่ลาดเชิงเขา น้ำล้นตลิ่ง ท่วมหมู่บ้าน ท่วมถนน