การหาต้นตอระบาดปลาหมอคางดำ คว้าน้ำเหลว ขณะที่กรมบัญชีกลางยอมจ่ายเยียวยา
นพ.วาโย เผยกรมบัญชีกลาง ยอมจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทรบจากปลาหมอคางดำแล้ว ขณะที่การหาต้นตอแพร่ระบาดส่อเหลว เหตุหลักฐานไม่ชัด
8 ส.ค.2567 นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง กรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.อว.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ติดตามความคืบหน้าการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยเชิญ 11 บริษัทเอกชนส่งออก มาชี้แจงข้อเท็จจริง ว่า การชี้แจงในวันนี้กรมประมงและบริษัทเอกชนให้ข้อมูลตรงกัน ว่า ข้อมูลที่เกิดขึ้น เกิดจากความผิดพลาดในการกรอกข้อมูล โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากปลา 2 ชนิด คือ ปลาหมอมาลายู และปลาหางเขียว ที่ชื่อภาษาอังกฤษสะกดคล้ายกับปลาหมอ ซึ่งบริษัทเอกชนอ้างว่าเป็นความผิดพลาดของบริษัทชิ้ปปิ้ง พร้อมส่งหลักฐานรายการส่งออกหลายปีย้อนหลัง รวมถึงใบตรวจสุขภาพปลา ต่อกรรมาธิการฯ ด้วย เพื่อนำไปเปรียบเทียบ
ด้าน บริษัท เอเชีย อะควาติคส์ จำกัด ยืนยันไม่เคยนำเข้า-ส่งออก ปลาหมอคางดำ แต่เกิดจากความผิดพลาดของชิปปิ้งที่กรอกข้อมูลชื่อทางวิทยาศาสตร์ผิด เมื่อเทียบกับเอกสารของกรมประมง เบื้องต้นเท่าที่ดูไม่มีสายพันธุ์ของปลาหมอคางดำเลย แต่ทางกรรมาธิการฯ จะต้องนำส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนจะสรุปรายงานส่งให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ
นพ.วาโย กล่าวต่อว่า คณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ที่ตนเป็นประธาน มองว่ารัฐควรจะเขามาเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จึงได้มีการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าจากหน่วยงานต่างๆ
จนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กรมบัญชีกลาง ทำหนังสือยืนยันว่าสามารถเบิกจ่ายได้ แต่จะต้องจ่ายให้กับเกษตรกรผู้ลงทะเบียนเท่านั้น น่าจะเริ่มได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
แต่ปัญหาคือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ไม่มีหน่วยงานไหนเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบในภาพรวม ต่างคนต่างดูแลแต่พื้นที่ของตัวเอง จึงเห็นว่า ผู้ที่ต้องเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบในเรื่องนี้คือนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการฯ ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐอยู่แล้ว แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้ผิด แต่หากรัฐมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่ามีผู้กระทำผิด แล้วทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ก็สามารถใช้สิทธิไปฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายคืนได้ ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้วสามารถใช้หมายศาลเพื่อเรียกหลักฐานต่างๆ มาตรวจสอบเพิ่มเติมได้ ดังนั้นตอนนี้จะต้องเยียวยาประชาชน แล้วเก็บบิลทั้งหมดไปเรียกเก็บกับผู้กระทำความผิดอีกครั้ง
ในส่วนของ บริษัท ซีพีเอฟ ยืนยันว่าได้ส่งตัวอย่างปลาหมอคางดำ 25 คู่ ให้กับกรมประมงแล้ว หลังนำเข้ามา 2,000 ตัว ได้ไม่นานก็ตายพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย 1,400 ตัว ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มงานวิจัย จึงไม่มีการส่งหลักฐานงานวิจัยให้กับกรมประมง อีกทั้งกรมประมงก็ไม่มีการขอ
ซึ่ง นพ.วาโย มองว่า ในการสรุปของคณะกรรมาธิการ คงไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐในการไปตรวจสอบ เพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป