ข่าว

"สรรพากร" เผย TEMU ไม่มีคนไทยเป็นตัวกลาง ไม่เข้าข่ายจดทะเบียนผู้เสียภาษี

11 ส.ค. 2567

"อธิบดีสรรพากร" เผย บังคับ TEMU จดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ เพราะยังไม่มีคนไทยเป็นตัวกลางบริการ ด้าน "รมว.ภูมิธรรม" หารือมาตรการ สินค้านำเข้า ราคาถูก-ไม่ได้มาตรฐาน ต้องทำการค้าสมดุล หลังทะลักเข้าไทย

ความคืบหน้ากรณีที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้กรมสรรพากรติดตามแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนอย่าง Temu ที่เข้ามาทำตลาดในไทย เพื่อแนะนำการเข้าร่วมจดทะเบียนระบบภาษี

 

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรดำเนินการติดต่อไปยังเทมูแล้ว โดยการส่งอีเมล์ ซึ่งเป็นการแนะนำให้เข้ามาจดทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทยเท่านั้น ปัจจุบันสถานะของTemu ยังไม่เข้าข่ายตามกฎหมายการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)ในประเทศไทย เพราะฉะนั้นทำให้ไม่สามารถบังคับให้เขามาจดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้

Temu เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ขายสินค้าจากต่างประเทศโดยตรงที่ไม่มีผู้ประกอบการคนไทยเข้าไปเป็นสื่อกลางการใช้บริการ หรือเปิดร้านซื้อขายบนแพลตฟอร์ม เพราฉะนั้น Temu จึงยังไม่เข้าข่ายผู้ต้องเสียภาษีในประเทศไทย คือ ภาษีแวต ที่เรียกเก็บจากแพลตฟอร์มต่างชาติ หรือ VES : VAT for Electronic Service ไม่เหมือนกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มีผู้ประกอบการไทยเข้าไปใช้บริการ แพลตฟอร์มจึงต้องจ่ายแวตเข้ามาที่สรรพากร

 

ส่วนสินค้าที่นำเข้ามาจากTemu ก็จะมีการจัดเก็บแวต 7% ตามการรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาทจากผู้นำเข้า หรือลูกค้าทั่วไปตามปกติ ส่วนอนาคตถ้ามีนโยบายให้สรรพากรเข้าไปดำเนินงานเรื่องภาษีกับTemu สรรพากรก็พร้อมประสานและดำเนินงานแน่นอน
 

affaliate-2

ส่วนปัญหาสินค้าจีน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ นำโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นแกนนำประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร,กรมสรรพากร ผู้ดูแลการนำเข้าและภาษี, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ผู้ดูแลเรื่องแพลตฟอร์มต่างๆ, กระทรวงอุตสาหกรรมผู้ดูแลเรื่องมาตรฐานสินค้า และกระทรวงสาธารณสุข ผู้ดูแลมาตรฐานอย. เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้า ไม่ได้มาตรฐานและราคาถูก ซึ่งทะลักเข้ามาในประเทศจำนวนมาก ผ่าน ทาง E- Commerce และ ด่านต่างๆ เพื่อดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทุ่มตลาดหรือไม่ กฎระเบียบต่างๆเป็นอย่างไร รวมถึงเกณฑ์ของ WTO

 

โดยเน้นแนวทางปกป้องสินค้าไทยบนพื้นฐานของกฎหมายที่มีอยู่ ไม่เน้นเรื่องการตอบโต้ เพราะยอมรับว่า อาจจะกระทบกับความสัมพันธ์การค้าระหว่างประเทศซึ่งไทยก็ส่งออกสินค้าเกษตรให้จีนอยู่ อย่างไรก็ตามในส่วนตัวได้หารือกับทูตจีนประจำประเทศไทย ซึ่งทางทูตจีนได้แสดงความกังวลเช่นกัน พร้อมที่จะหาแนวทางร่วมกันต่อไป พร้อมระบุการที่จีนจะบุกไทยหรือไทยจะบุกจีนถือเป็นแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศในโลกยุคใหม่ จีนมีสิทธิ์จะเข้ามา ไทยก็มีหน้าที่ที่จะปกป้องตัวเอง หากลุกขึ้นมาตอบโต้ ห้ามจีนทำการค้า ทางจีนเองก็อาจจะห้ามไทยได้ด้วยเหมือนกัน การค้าระหว่างประเทศก็จะไม่เกิดขึ้น