รู้จักระบบ "Negative Income Tax" ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล
ทำความรู้จัก ระบบ "Negative Income Tax" ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แก้ปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้อย่างไม่เท่าเทียม
ผู้ช่วย ศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ (อาจารย์มิก) อาจารย์กฎหมายภาษีอากร และ CEO iTAX โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Mickey Yutthana Srisavat เกี่ยวกับแนวคิดระบบ "Negative Income Tax" (NIT) ภายหลังที่ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงในงาน "Vision for Thailand" ที่พารากอน ฮอล์ ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 22 ส.ค. 2567
ดร.ทักษิณ เล่าในงาน Vision for Thailand ว่าเห็นกระทรวงการคลังกำลังคิดดังๆ ว่ากำลังศึกษาว่าจะลดภาษีเงินได้ให้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและดึงดูดให้คนมาอยู่ในไทย รวมถึงการปฏิรูประบบภาษีไทยสู่ระบบ "Negative Income Tax" ที่คนไทยทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจนแค่ไหนต้องเข้าระบบภาษีด้วย
พอดีในงานนี้ ดร.ทักษิณ ไม่ได้อธิบายรายละเอียดไว้มากนัก เลยถือโอกาสเขียนขยายความไว้เผื่อเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ด้วย
Negative Income Tax คืออะไร?
โดยปกติเราคงคุ้นเคยกับระบบภาษีเงินได้ที่ใครมีรายได้มากก็เสียภาษีมาก ใครรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย ส่วนใครไม่มีรายได้ก็ไม่ต้องเสียภาษีเลย
แต่ระบบ Negative Income Tax ซึ่งถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1962 โดยศาสตราจารย์ Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ จะมีฟีเจอร์เพิ่มจากระบบภาษีเงินได้ทั่วไป คือ คนที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด นอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีแล้ว จะยังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
และแน่นอนว่าเพื่อให้คนที่รายได้น้อยได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ระบบนี้จึงจูงใจให้ทุกคนที่แม้จะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีก็ต้องเข้าระบบภาษีและยื่นภาษีด้วย เพื่อเป็นหลักฐานรับการช่วยเหลือจากรัฐบาลต่อไป
Negative Income Tax มีจุดเด่นตรงไหน?
Negative Income Tax เป็นการให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จึงมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่สมควรได้รับได้ตรงกลุ่มและครอบคลุมที่สุดเพราะเป็นสวัสดิการแบบเจาะจง ช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่าการดำเนินโครงการสวัสดิการแบบถ้วนหน้าที่บางครั้งใช้งบประมาณสูงแต่อาจได้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่ เพราะงบประมาณถูกจัดสรรให้บุคคลที่ไม่ได้มีรายได้น้อยจริงๆ หรือไม่ได้รับความเดือดร้อนจริง
ในระยะยาว Negative Income Tax สามารถเพิ่มจำนวนคนให้เข้าสู่ระบบภาษีได้มากขึ้น เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยก็มีแรงจูงใจให้เข้าระบบภาษีและยื่นภาษีเพื่อรับเงินช่วยเหลือ ดังนั้น หากในอนาคตบุคคลเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้นจนถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้ว ก็จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ทันทีเพราะอยู่ในระบบภาษีแต่แรกอยู่แล้ว
ระบบ Negative Income Tax ทำงานอย่างไร?
กลไกของ Negative Income Tax ตามข้อเสนอของ Friedman มีองค์ประกอบ 2 ประการ ได้แก่
- เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำ (Income Threshold) และ
- อัตราการชดเชย (Rate of Subsidy)
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผมจะลองสมมติตัวอย่างคร่าวๆ เช่น ถ้ารัฐบาลใช้เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีคือ ปีละ 150,000 บาท และอัตราการชดเชย 50% ผลลัพธ์เป็นไปได้ในกรณีต่างๆ อาจเป็นได้ดังนี้
ก) นายเอก ไม่มีรายได้เลย - นายเอกก็จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลเป็นจำนวน 150,000 x 50% = 75,000 ต่อปี
ข) นายโท มีรายได้ 100,000 บาทต่อปี - นายโทก็จะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล โดยคิดฐานจากส่วนต่างของเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำกับรายได้ตัวเองก่อน คือ 50,000 (เกณฑ์ขั้นต่ำ 150,000 - รายได้จริง 100,000) จากนั้น นายโทจะได้เงินชดเชย 50,000 x 50% = 25,000 ต่อปี
ค) นายตรี มีรายได้ 150,000 บาทต่อปี ซึ่งเท่ากับเกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำพอดี - นายตรีจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลเลย
ง) นายจัตวา มีรายได้สูงกว่า 150,000 บาทต่อปี - นายจัตวาจะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาลตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำหนดไว้
ความท้าทายของระบบ Negative Income Tax
หลักๆ น่าจะมี 2 ประเด็น ได้แก่
1. ต้นทุนการคัดกรองค่อนข้างสูงและสร้างภาระการยื่นภาษีเพิ่มให้ผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากบุคคลผู้มีรายได้น้อยที่จะรับเงินช่วยเหลือได้ต้องเข้าระบบภาษีด้วย ดังนั้น ในกรณีที่รัฐไม่มีข้อมูลรายได้จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้มากเพียงพอ บุคคลเหล่านี้จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่ยื่นภาษีเพื่อให้มีข้อมูลในระบบด้วยแม้ว่าจะไม่มีรายได้เลยก็ตาม ซึ่งอาจสร้างภาระให้ผู้มีรายได้น้อยรวมถึงผู้ไม่มีรายได้ต้องยื่นภาษีทุกปีด้วย ซึ่งต่างจากระบบปัจจุบันที่ผู้มีรายได้น้อยไม่เคยมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีมาก่อน
2. ใช้งบประมาณเพิ่มเติม เพราะการให้เงินช่วยเหลือจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณมาเพิ่มเติม ซึ่งประเด็นนี้อาจย้อนแย้งกับแนวทางที่กระทรวงการคลังกำลังวางแผนลดภาษีเงินได้ ซึ่งอาจทำให้งบประมาณยิ่งไม่เพียงพอ ดังนั้น รัฐบาลต้องวางแผนเรื่องแหล่งเงินช่วยเหลือที่เหมาะสมและเป็นไปได้จริงด้วย
ระบบ Negative Income Tax มันใช่อันเดียวกับแนวคิด Universal Basic Income รึเปล่า?
โดยทั่วไป การดำเนินนโยบาย Negative Income Tax มักถูกพูดถึงควบคู่กับนโยบายรายได้ขั้นต่ำถ้วนหน้า หรือ Universal Basic Income (UBI) ด้วยเนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน
แต่จุดแตกต่างสำคัญคือ UBI จะให้เงินเป็นรายได้พื้นฐานขั้นต่ำแก่บุคคลทุกคนโดยไม่สนใจว่าจะเป็นผู้มีรายได้มากหรือน้อย ในขณะที่ Negative Income Tax จะให้เงินช่วยเหลือเฉพาะคนมีรายได้น้อยเท่านั้นและให้ในอัตราที่แตกต่างกันแล้วแต่ว่ามีคนนั้นมีรายได้น้อยแค่ไหน
เคยมีประเทศไหนใช้ระบบ Negative Income Tax บ้างรึยัง?
บางประเทศได้มีการดำเนินนโยบาย Negative Income Tax ไปแล้ว โดยมีรายละเอียดและใช้ชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น
- Earned Income Tax Credit (EITC) - สหรัฐอเมริกา อิสราเอล เกาหลีใต้ และสวีเดน
- Family Tax Benefit (FTB) - ออสเตรเลีย
- Independent Earner Tax Credit (IETC) - นิวซีแลนด์
- Workfare Income Supplement (WIS) - สิงคโปร์
- Working Income Tax Benefit (WITB) - แคนาดา
- Working Tax Credit (WTC) - สหราชณาจักร
ถ้าสังเกตดูดีๆ ประเทศพวกนี้รวยๆ ทั้งนั้น น่าสนใจว่าสภาวะบ้านเราตอนนี้พร้อมกับระบบ Negative Income Tax แล้วรึเปล่า แต่ส่วนตัวเชียร์นโยบายนี้เลยนะ เพราะเราอาจจะได้เห็นผู้เสียภาษีในระบบภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นรวดเดียวจาก 11 ล้านคนเป็น 66 ล้านคนได้เลย ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับโดยตรงคือ หากมีสถานการณ์ที่ต้องให้เงินช่วยเหลือเหมือนตอนโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ช่วงโควิด กระทรวงการคลังจะมีข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันทีโดยไม่ต้องเหนื่อยให้ประชาชนมาเสียเวลาลงทะเบียนอีก และยิ่งตอนนี้มีทั้งเป๋าตังและโครงการดิจิทัลวอลเล็ต การให้เงินช่วยเหลือก็จะยิงเข้าตัวประชาชนรายนั้นได้ทันที ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ดึงเงินกลับได้ทันทีด้วย น่าสนใจว่าโครงการเหล่านี้จะบูรณาการกันได้ขนาดไหน
ตอนนี้รัฐบาลใหม่มีเวลาเหลืออีก 3 ปี มาลุ้นกันว่ารัฐบาลทักษิณจะผลักดันนโยบาย Negative Income Tax ให้เป็นจริงได้ทันมั้ย