เปิดขั้นตอน ปฏิบัติการค้นหา ผู้รอดชีวิต อุโมงค์รถไฟความเร็วสูง ถล่ม
เปิดขั้นตอน การปฏิบัติการค้นหา ผู้รอดชีวิต อุโมงค์รถไฟความเร็วสูง ถล่ม ที่ โคราช ล่าสุดพบ 3 สัญญาณชีพ ระดมกำลังเร่งช่วย
จากกรณีเกิดเหตุ อุโมงค์รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ช่วงคลองขนานจิต ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของไซต์งานที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายในอุโมงค์ ติดอยู่ภายใน จำนวน 3 คน ซึ่งล่าสุดยังไม่สามารถนำตัว ผู้ประสบภัยออกมาจากจุดเกิดเหตุได้ โดยตลอดทั้งวันเจ้าหน้าที่ชุดกู้ภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามช่วยกันค้นหาตัวผู้ประสบภัย แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ
ล่าสุดเวลา 22.30 น. เจ้าหน้าที่ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองแห่งชาติ Uban Search and Rescue Team หรือ USAR Thailand จำนวน 2 นายได้เดินทางมาถึงในจุดเกิดเหตุ เพื่อช่วยปฏิบัติการภาระกิจค้นหาผู้ประสบภัย ภายหลังจากที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ได้สนับสนุนปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง Thailand พร้อมด้วยเครื่องมือค้นหากู้ภัยแบบพิเศษ เช่น เครื่องตรวจจับสัญญาณผู้รอดชีวิต หรือ Life Detector และ อุปกรณ์กล้องที่สามารถค้นหาผู้รอดชีวิตใต้อาคารถล่ม หรือ Search Camera
โดยทางด้าน เกริกเสกสรรค์ วาตะศิริ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการพิเศษค้นหาและกู้ภัย ได้เปิดเผยว่า เครื่องตรวจจับสัญญาณผู้รอดชีวิต (Life Detector) นั้น เป็นตรวจจับสัญญาณมีระยะการตรวจจับสัญญาณที่ 100 เมตร ซึ่งการทำงานของเครื่องตรวจจับสัญญาณผู้รอดชีวิต เมื่อส่งสัญญาณไป จะสามารถแปลเป็นภาพออกมาให้เป็นได้ทันที มีรูปร่างอย่างไร และหากมีชีวิตอยู่ก็สามารถตรวจจับสัญญาณชีพ และปรากฎสัญญาณชีพจรได้ด้วยเช่นเดียวกัน
ส่วนอุปกรณ์กล้องที่สามารถค้นหาผู้รอดชีวิตใต้อาคารถล่ม (Search Camera) เป็นอุปกรณ์ค้นหาที่สามารถจะสื่อสารทั้งภาพและเสียงได้ ขณะที่อุปกรณ์เคลื่อนที่ไป ซึ่งอุปกรณ์นี้จะมีการต่อท่อส่งอากาศเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มอากาศภายใน ซึ่งกล้องตัวนี้จะใช้ในการค้นหาอาคารถล่ม โดยใช้วิธีการหย่อนท่อเข้าไปภายในเพื่อดูสภาพ แต่ในกรณีนี้เป็นการถล่มของดิน ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดซึ่งต้องไปประเมินดูหน้างานอีกครั้ง
ทั้งนี้ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ส่งพื้นที่มาก่อน 5 นาย และหากว่าพบผู้ประสบภัยแล้วอาจจะมีการเสริมกำลังเพิ่ม ขึ้นอยู่กับหน้างานด้วยเช่นเดียวกัน
โดยภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ USAR Thailand ได้มีการประชุมหน้างานกับทีมวิศวกรรมของโครงการ และได้เข้าไปที่บริเวณที่ดินถล่ม ได้ออกมาเปิดเผยว่า จุดที่ ดินถล่ม ลงมาคาดว่าน่าจะมีระยะประมาณ 45-47 เมตร ซึ่งจากการประเมินเนื้อดิน คาดว่าเครื่อง Life Detector น่าจะค้นหาได้ในระยะเพียง30เมตรเท่านั้น โดยขั้นแรกจะใช้วิธีตั้งเครื่อง Life Detector ในบริเวณที่ดินถล่มลงมา เพื่อค้นหาสัญญาชีพก่อน เพื่อหาตำแหน่งของผู้ประสบภัย/แต่ถ้าหากไม่พบ จะใช้ท่อขนาด 1.8 เมตร และ1.2 เมตร เจาะเข้าไปในเนื้อดินให้ได้ระยะที่ผู้ประสบภัยด้านในจะไม่เป็นอันตราย จากนั้นจะเคลื่อนย้านเครื่อง Life Detector เข้าไปในท่อ เพื่อทำการค้นหาสัญญาชีพอีกครั้ง
ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้เครื่อง Life Detector ในการตรวจจับหาสัญญาณชีพนั้น เพื่อต้องการระบุตำแหน่งของผู้ประสบภัยและเพื่อให้ทราบว่าผู้ประสบภัยยังปลอดภัยดีอยู่หรือไม่ เพราะหากมีการขุดหรือเจาะท่อเข้าไป โดยไม่ทราบตำแหน่งของผู้ประสบภัย อาจจะทำให้ผู้ประสบภัยเป็นอันตรายได้
สาเหตุที่ต้องใช้วิธีการเจาะท่อเข้าไปแทนการขุดดินออกมานั้นเนื่องจาก ก่อนหน้านี้เคยลองใช้วิธีขุดดินออกมาแล้ว แต่ปรากฏว่าดินที่อยู่ด้านบนก็สไลด์ลงมาแทนที่ จึงต้องใช้วิธีเจาะท่อเข้าไปด้านในจะสะดวกต่อการช่วยชีวิตและทำงานได้สะดวกมาขึ้น
ทั้งนี้มีรายงานว่า ท่อขนาด 1.8 เมตร และ 1.2 เมตร ได้ลำเลียงมาถึงที่จุดเกิดเหตุแล้วจำนวน4ท่อน แต่ละท่อนมีความยาว 6 เมตร ซึ่งได้มีการต่อท่อดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการเจาะเข้าไปเพราะต้องรอ การระบุตำแหน่งของผู้ประสบภัย จากเครื่อง Life Detector เสียก่อน
ต่อมา เวลา 23.56 น. ทีมเจ้าหน้าที่ USAR Thailand ได้นำเครื่อง Life Detector เข้าไปด้านในอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อ เพื่อค้นหาตัวผู้ประสบภัย ในบริเวณจุดที่ ดินถล่ม ลงมา
โดยมีรายงานว่า ได้มีการเจาะท่อเข้าไปในจุดที่ดินถล่มลงมาและระยะประมาณ 6 เมตร จากนั้นจะให้เจ้าหน้าที่ USAR Thailand ได้นำเครื่อง Life Detector เข้าไปด้านในท่อ จนสุดปลายที่ได้มีการเจาะเพื่อทำการ สแกนค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ด้านใน ซึ่งการค้นหาในช่วงแรกยังไม่พบผู้ประสบภัย ทำให้อาจจะต้องมีการขยับจุดเพื่อให้เครื่องได้ค้นหาโดยรอบบริเวณ