ข่าว

กู้ภัยฯ เผย อุปสรรค ความยากลำบาก การค้นหาผู้สูญหาย เหตุอุโมงค์รถไฟถล่ม

กู้ภัยฯ เผย อุปสรรค ความยากลำบาก การค้นหาผู้สูญหาย เหตุอุโมงค์รถไฟถล่ม

26 ส.ค. 2567

กู้ภัยฯ แจงไทม์ไลน์พบสัญญาณชีพ เผย อุปสรรค ความยากลำบาก ปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหาย เหตุอุโมงค์รถไฟถล่ม ด้าน "สุรพงษ์" รักษาการ รมช.คมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า

26 ส.ค. 2567 เมื่อเวลา 14.00 น. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง และคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคม เดินทางมาติดตามความคืบหน้ากรณีดินถล่มอุโมงค์รถไฟความเร็วสูง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

โดยมี นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายกฤษฏิ์ พูนเกษม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วม
 

กู้ภัยฯ เผย อุปสรรค ความยากลำบาก การค้นหาผู้สูญหาย เหตุอุโมงค์รถไฟถล่ม

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการกู้ภัย ปัจจุบันได้ดำเนินการดันท่อเหล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.20 เมตร ยาวท่อนละ 6 เมตร เข้าไปแล้ว 2 ท่อน และอยู่ระหว่างดำเนินการท่อที่ 3 ซึ่งจะได้ความยาว 18 เมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเครื่องจักรกลที่มีประสิทธิภาพสูงมาดันท่อเหล็กดังกล่าวเพิ่ม และดำเนินการดันท่อขนาดเล็กที่มีอุปกรณ์ตรวจจับตำแหน่ง เพื่อค้นหาตำแหน่งผู้ที่ติดค้างภายในอุโมงค์

โดยคาดว่าจะดำเนินการครบ 5-6 ท่อนภายในคืนนี้ เพื่อเพิ่มอากาศในอุโมงค์ พร้อมทั้งช่วยเหลือและค้นหาผู้ที่ติดอยู่ภายในอุโมงค์ ควบคู่กับการใช้เครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพ และสุนัข K-9 ช่วยค้นหาผู้ประสบภัย
 

กู้ภัยฯ เผย อุปสรรค ความยากลำบาก การค้นหาผู้สูญหาย เหตุอุโมงค์รถไฟถล่ม

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนรู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและห่วงใยผู้สูญหาย โดยตนได้กำชับให้การกรมการขนส่งทางราง และการรถไฟฯ เร่งหาสาเหตุที่แท้จริง เร่งดำเนินการตักดินที่ถล่ม และเร่งค้นหาผู้สูญหายอย่างเต็มความสามารถ และเพื่อป้องกันการสูญเสียซ้ำซ้อน ได้กำชับให้ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟทุกแห่งให้มีความปลอดภัยสูงสุดด้วย

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงตรวจสอบสัญญาจ้างต่างๆ อย่างละเอียด ขณะเดียวกันจะจัดทำสมุดพกตัดคะแนนผู้รับเหมา ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าร่วมประมูลงานอื่นๆ ในอนาคตด้วย เพื่อให้งานก่อสร้างมีความปลอดภัยและมีคุณภาพที่ดี 

 

 

ด้าน นายกฤษรักษ์ เนียมหอม เจ้าหน้าที่ชุดค้นหาและกู้ภัยในเมือง ปภ. ซึ่งเป็นชุดที่ค้นหาคนหายชุดเดียวกันจากเหตุการณ์ดินโคลนถล่มที่ภูเก็ต มาช่วยค้นหาบุคคลที่ติดค้างในอุโมงค์ โดยโชว์เครื่องมือสแกนเรดาห์ที่ตรวจจับการเคลื่อนไหวจากภายในและหาชีพจร ซึ่งเครื่องดังกล่าวนี้จะทำงานต่อเมื่อผู้ประสบภัยหายใจแล้วหน้าอกขยายตัว จึงจะส่งสัญญาณมาที่เครื่องแสดงผล

เมื่อช่วงดึกที่ผ่านมาชุดของตนได้เข้าไปใช้เครื่องสแกนเรดาห์ ผลหน้าจอขึ้นว่าพบชีพจรผู้ประสบภัย 3 คน อยู่ห่างจุดที่เจ้าหน้าที่ใช้ท่อแคสซิ่งแทงและอัดในกองดิน 20 เมตร และช่วง 07.00 น. ของวันนี้ใช้เครื่องสแกนเรดาห์ ผลหน้าจอขึ้นว่าพบชีพจรผู้ประสบภัย 1 คน อยู่ห่างจุดที่เจ้าหน้าที่ใช้ท่อแคสซิ่งแทงและอัดในกองดิน 4 เมตร และล่าสุดไม่ขอระบุเวลา ไม่พบชีพจรผู้ประสบภัยสักคน

ตนเองจึงไม่มั่นใจว่าเป็นเพราะบริเวณด้านในมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซออกซิเจนน้อยหรือไม่ อาจจะมีคนทำให้ไม่พบชีพจรของผู้ประสบภัย รวมทั้งอาจจะห่างไกลกับตำแหน่งที่ผู้ประสบภัยทั้ง 3 อยู่ ซึ่งก็อาจจะมีปัจจัยหลายอย่าง ทำให้เครื่องไม่สามารถตรวจจับชีพจรได้
 

กู้ภัยฯ เผย อุปสรรค ความยากลำบาก การค้นหาผู้สูญหาย เหตุอุโมงค์รถไฟถล่ม


ความยากลำบากของการทำงาน นอกจากจะต้องมีความเชี่ยวชาญการจัดการดินไม่ให้สไลด์ลงมาทับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งคนงานของบริษัทที่กำลังเร่งช่วยเหลือในอุโมงค์ แม้จะมีท่ออากาศช่วยดูดอากาศจากนอกอุโมงค์เข้าไปด้านใน แต่ก็อย่าลืมว่าด้านในจุดดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่อยู่จำนวนมาก ที่กำลังเร่งทำงานช่วยเหลือ รวมถึงผู้ประสบภัยทั้ง 3 คน ที่ถูกดินถล่มทับ ก็คล้ายกับแย่งอากาศหายใจ

จากการที่เครื่องไม่สามารถตรวจจับชีพจรได้ ทำให้ทำงานค่อนข้างลำบากในการแทงท่อแคสซิ่ง เพื่อที่จะให้ปลายท่อไปโผล่ยังจุดที่พบซากรถ ยังไม่สามารถระบุเวลาในการช่วยเหลือสำเร็จได้ นอกจากนี้ยังมีการนำสุนัข k9 มาดมกลิ่นช่วย ยืนยันว่าทุกหน่วยงานมาระดมกันช่วยเหลือเต็มที่

ต่อมาเวลา 17.50 น. เจ้าหน้าที่ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองแห่งชาติ Uban Search and Rescue Team หรือ USAR Thailand ได้เดินทางกลับออกมาจากอุโมงค์แล้ว พร้อมสุนัข K9 จำนวน 3 ตัว

นายกฤษรักษ์ เนียมหอม หนึ่งในทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองแห่งชาติ หรือ USAR Thailand ได้ออกมาเปิดเผยที่เห็นสั้นๆ ว่า หลังจากที่ทีมได้นำเครื่อง Life Detecto ไปทำการสแกนด้านไหนอีกครั้ง ก็พบ พิกัดใหม่ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผู้ประสบภัยอยู่ โดยพิกัดดังกล่าวนั้นก็ตรงกับ การสำรวจของสุนัข K9 และคาดว่าจะเป็นจุดที่มีรถดัมพ์ และแบคโฮจอดอยู่

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่ขอยืนยันในเรื่องของสัญญาณชีพ ส่วนแผนในการค้นหาหลังจากนี้ ต้องรอการประชุมจาก หัวหน้าโครงการและนายอำเภอปากช่องก่อน
 

กู้ภัยฯ เผย อุปสรรค ความยากลำบาก การค้นหาผู้สูญหาย เหตุอุโมงค์รถไฟถล่ม


ในส่วนของสุนัข K9 นั้นได้เดินทางออกจากจุดเกิดเหตุเป็นที่เรียบร้อยแล้วเนื่องจากสุนัข K9 มีวงรอบในการทำงานเพียงแค่ 20 นาที นอกจากนี้ก่อนการทำงานก็จะมีการเตรียมตัว 20 นาทีและการพักคอยประมาณ 20 นาที ภายหลังการทำงานเสร็จภารกิจ จึงให้สุนัข K9 ทั้งหมดกลับ แต่ยังคงสแตนบายหากมีภาระกิจที่จะต้องขอความช่วยเหลือ