ข่าว

เตือนฉบับ 5 เฝ้าระวัง 11 จ. เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำท้ายเขื่อน 900-1,400 ลบ.ม

เตือนฉบับ 5 เฝ้าระวัง 11 จ. เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำท้ายเขื่อน 900-1,400 ลบ.ม

27 ส.ค. 2567

กรมชลประทาน ออกหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ ฉบับที่ 5 เตือน 11 จังหวัด เฝ้าระวัง เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำท้ายเขื่อน 900-1,400 ลบ.ม

27 ส.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาฉบับที่ 5 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กรุงเทพมหานครฯ 

 

โดยจากการติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง 

 

ในช่วงวันที่ 24-30 สิงหาคม 2567 และจากการคาดการณ์โดยกรมชลประทาน ใน 1-7 วันข้างหน้า โดยในวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขามีปริมาณประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำ 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในอัตรา 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

 

เตือนฉบับ 5 เฝ้าระวัง 11 จ. เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำท้ายเขื่อน 900-1,400 ลบ.ม

กรมชลประทานมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อน ในอัตรา 900-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 0.50 -1.50 เมตร ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผังไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป 

 

สำหรับปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,166 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.54 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 10.53 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่ง อยู่ที่ 5.81 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 898 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงส่งผลทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C.3 บ้านบางพุทรา อ.เมือง จ.สิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 841 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานชลประทานที่ 12 โดยกรมชลประทาน ก็ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำ ทั้ง 11 จังหวัด เฝ้าติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ขณะที่ทางด้านชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำทางด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะ พื้นที่ ต.หาดอาษา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ซึ่งพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และติดกับลำน้ำเจ้าพระยา ต่างกังวลว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะซ้ำรอย ปี 2554 เนื่องจากยังเห็นว่าทางด้านตอนบนของลุ่มน้ำยังมีฝนตกเยอะ และน้ำยังท่วมในหลายพื้นที่ 

 

เตือนฉบับ 5 เฝ้าระวัง 11 จ. เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำท้ายเขื่อน 900-1,400 ลบ.ม

 

นายขจรเดช จีนหลวง ชาวบ้านในพื้นที่ ม.2 ต.หาดอาษา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า ในปีนี้รู้สึกเป็นกังวลมากหลังจากดูข่าวเห็นว่าทางภาคเหนือมีน้ำป่าท่วมเยอะเลยกลัวน้ำจะท่วม สำหรับตอนนี้ตนได้ทำการซ่อมเรือและเริ่มทยอยเก็บสิ่งของบางอย่างขึ้นสู่ที่สูงเอาไว้แล้ว ซึ่งในปีนี้ตนเองกลัวเหตุการณ์น้ำท่วมจะซ้ำรอยปี 2554 เนื่องจากน้ำทางด้านตอนบนเยอะมาก และตนเองไม่รู้ว่าการระบายน้ำจะเป็นอย่างไร 

 

โดยตนเองอย่างจะให้ทางกรมชลประทานช่วยระบายน้ำไปตามคลองสาขาต่างๆเพื่อลดผลกระทบให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้านท้ายน้ำ หากว่าทางเขื่อนเจ้าพระยามีการเพิ่มการระบายน้ำเป็นระบบเชื่อว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาคงเอาอยู่ 

 

จากเหตุการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านๆมา บริเวณ ต.หาดอาษา หากเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำ ประมาณ 1,700 – 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีปริมาณน้ำมากกว่านั้นน้ำก็จะไหลเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน 

 

ด้าน นางศรีสุดา พงศ์เสรีวัฒน์ รองปลัดเทศบาลตำบลหาดอาษา เปิดเผยว่า จากสถิติน้ำท่วมเมื่อปี 2565 ในส่วนของ ต.หาดอาษา หากเขื่อนเจ้าพระยา มีการระบายน้ำอยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มวลน้ำจะเริ่มไหลเอ่อเข้าตามท่อระบายน้ำทางเทศบาลก็จะจัดกำลังเจ้าหน้าที่กรอกกระสอบทรายออกอุดท่อตามจุดต่างๆที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม และหากว่าเขื่อนเจ้าพระยามีการปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 2,100-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเมื่อไรน้ำก็จะเริ่มล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน 

 

สำหรับขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่บางรายต่างก็รู้สึกกังวลเนื่องจากทางด้านภาคเหนือยังมีปริมาณน้ำที่เยอะอยู่ โดยทางเทศบาลก็ได้มีการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำและเฝ้าระวัง หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินทางเทศบาลก็จะให้ประชาชนเตรียมยกสิ่งของขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันความเสียหายของทรัพย์สิน แต่อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ทางเทศบาลก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

 

เตือนฉบับ 5 เฝ้าระวัง 11 จ. เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำท้ายเขื่อน 900-1,400 ลบ.ม