ชัดแล้ว สาเหตุ ดินสไลด์ เขานาคเกิด รุกธรรมชาติ ไม่พบหลักการปันน้ำ
ชัดแล้ว สาเหตุ ดินสไลด์ ด้านหลังองค์พระ พบร่องน้ำธรรมชาติจำนวน 2 ร่อง ถูกการก่อสร้างและปรับพื้นที่ ปิดกั้นทางน้ำทางธรรมชาติ
27 ส.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณี ดินสไลด์จากเขานาคเกิด จังหวัดภูเก็ตว่า ล่าสุด พ.อ.ดุสิต เกษรแก้ว หัวหน้าชุดตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 4 เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบพื้นที่เขานาคเกิด ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อหาสาเหตุการเกิดดินสไลด์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และทรัพย์สิน ของประชาชนบริเวณเชิงเขาเสียหายเป็นจำนวนมาก ว่า สภาพเขานาคเกิด เป็นเขาหินแปร ปกคลุมด้วยชั้นดิน บริเวณที่มีการก่อสร้างบนยอดเขา อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางที่ 375 เมตร
จากการเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าบริเวณดังกล่าวเริ่มมีการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2548 มีการปรับพื้นที่เพื่อเป็นที่ตั้งของพระใหญ่ รวมถึงปรับพื้นที่เป็นลานกว้างแต่ไม่พบหลักการปันน้ำ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมการก่อสร้างบนที่สูง ซึ่งตามธรรมชาติแล้วบริเวณสันเขาหรือภูเขาสูง จะมีการปันน้ำตามธรรมชาติ
โดยเขานาคเกิด ที่ด้านหลังองค์พระ พบร่องน้ำธรรมชาติจำนวน 2 ร่อง แต่เมื่อมีการก่อสร้างและปรับพื้นที่ได้มีการปิดกั้นทางน้ำทางธรรมชาติ เมื่อเกิดฝนตกหนักและมีน้ำต้องระบายลงจากภูเขา ทำให้มวลน้ำต้องการช่องทางเดิน ซึ่งจุดที่เกิดดินสไลด์และพังลงมา เป็นทางเดินน้ำที่ธรรมชาติต้องการสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทน ซึ่งหน้าผาที่เกิดดินสไลด์มีความลาดชันประมาณ 80 องศา มีต้นไม้ปกคลุมเพียงชั้นผิวดินเท่านั้น
ทั้งนี้การตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมที่นำมาวิเคราะห์ พบว่ามีความเคลื่อนไหวของชั้นดินและฐานหิน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567
ขณะที่ พล.ต.อนุสรณ์ โออุไร รองแม่ทัพภาคที่ 4 รอง ผอ.รมน.ภาค4 กล่าวว่า การตรวจสอบสาเหตุในเบื้องต้นของชุดตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 แน่ชัดแล้วว่าสาเหตุมาจากการ บุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และการก่อสร้างบนพื้นที่ลาดชันสูง ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางกองทัพภาคที่4 กำลังดำเนินการพยายามแก้ไขอยู่ในหลายพื้นที่
โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เกาะสมุย ภายใต้การบูรณาการตรวจสอบ สมุยโมเดล เพื่อนำไปปรับใช้กับแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ ในพื้นที่ภาค 4 แต่มาเกิดเหตุเสียก่อนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 จะได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมหารือ เพื่อหาแนวทางเข้าตรวจสอบในพื้นที่เสี่ยงจุดอื่นๆ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซ้อน ส่วนความผิดทางกฎหมายนั้นก็ให้เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะหาตัวผู้กระทำผิด มารับผิดชอบทางกฎหมายต่อไป
เกาะภูเก็ตและ เกาะสมุย มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เหมือนกัน ทั้งในเรื่องของการก่อตัวของภูเขาหิน และความลาดชันของพื้นที่ ที่ปัจจุบันพบว่ามีการก่อสร้างอาคารวิลล่า หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆบนพื้น ลาดชันสูงหรือภูเขา บางส่วนก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต
บางส่วนก่อสร้างผิดแบบ มีการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นที่เกาะภูเก็ต เป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นภัยพิบัติ ที่ได้สร้างความสูญเสียทั้งในเรื่องของชีวิตทรัพย์สินรวมถึงภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วย รอง ผอ.รมน.ภาค 4 กล่าว