เสี่ยเค้ก ไม่กังวล สรรพากรตรวจสอบ เล่าที่มารายได้ ทำไมมีเงินซื้อทองเป็นล้าน
"เสี่ยเค้ก" ไม่กังวล สรรพากรตรวจสอบ เล่าที่มารายได้ ทำไมมีเงินซื้อทองเป็นล้าน ตั้งข้อสงสัยพ่อค้าก๋วยเตี๋ยว ผิวคล้ำ มีรอยสัก จะใส่ทองเส้นใหญ่ไม่ได้หรือ?
จากกรณีนายรังสรรค์ สุวรรณศร หรือ "เสี่ยเค้ก" อายุ 57 ปี เจ้าของร้านบะหมี่เกี๊ยวชื่อดัง "ฮ่องเต้บะหมี่เกี๊ยวปูหมูแดง" หน้าหมู่บ้านกฤษดานคร ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ติดป้ายหน้าร้านว่า "สตรีมีครรภ์ คนจน คนไร้ที่พึ่งขอกินฟรีได้ตลอด"
โดยลักษณะของเสี่ยเค้ก มักสวมใส่ทองเส้นใหญ่เต็มคอและข้อมือ จนมีสื่อสังคมออนไลน์นำเสนอข่าวว่า เสี่ยเค้กงานเข้า สรรพากรจะลงมาตรวจสอบเส้นทางการเงินที่ร่ำรวยผิดปกติ เรื่องนี้ทำให้เสี่ยเค้กไม่สบายใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ
เสี่ยเค้ก กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้กังวลหากโดนตรวจสอบ เพราะเงินหามาได้อย่างสุจริต แต่เพียงรู้สึกว่า เพราะตนขายก๋วยเตี๋ยว ผิวคล้ำ มีรอยสัก พอใส่ทองเส้นใหญ่ ถึงกับต้องลงพื้นที่มาตรวจสอบกันเลย และสงสัยว่าเจ้าของร้านบะหมี่เกี๊ยวจะใส่ทองเส้นละ 10 บาท ไม่ได้เลยหรือ
สำหรับที่มาของทองที่คอและข้อมือ มาจากเมื่อ 20 ปีก่อน ครอบครัวขายที่ดิน ตนจึงนำเงิน 8 หมื่นบาทไปซื้อทองมาเก็บไว้ ช่วงขายบะหมี่ก็รวบรวมเงินไปซื้อทองเพิ่ม จนตอนนี้มีทองคำเส้นละ 10 บาท 2 เส้น และที่ข้อมือ เส้นละ 5 บาท รวม แล้ว 25 บาท มูลค่ารวมประมาณ 1 ล้านบาท และใส่แบบนี้มาขายบะหมี่ทุกวัน
"ตนขายบะหมี่มา 32 ปี เป็นคนที่ประหยัดมัธยัสถ์มาก แม้แต่กาแฟยี่ห้อดังๆ ก็ไม่กล้ากิน กับข้าวก็ทำกินกันเองในครอบครัว กินชามเดียวกับภรรยา กำไรที่ได้จากการขายก๋วยเตี๋ยวต่อวัน นำไปหยอดกระปุก อย่างน้อย 1,000 บาทและไม่มีการนำออกมาใช้ แม้จะใส่ทองเส้นใหญ่ แต่เสื้อและกางเกง ไม่เกิน 200 บาท ทุกวันนี้ยังขี่รถจักรยานยนต์ ส่งก๋วยเตี๋ยวให้ลูกค้าที่สั่งอยู่เลย"
ส่วนประเด็นที่บอกว่า ตนกำลังเตรียมเงินเพื่อไปซื้อทอง 100 บาทนั้น เสี่ยเค้ก ยอมรับว่าได้เข้าไปในร้านทองแห่งหนึ่ง เพื่อไปเปลี่ยนลายทองที่ข้อมือ ปรากฏว่าพอเข้าไปในร้าน เห็นทองเส้นละ 100 บาท เส้นใหญ่สวยงามมาก วันนั้นแม่ค้าเห็นว่าตนใส่ทองเส้นใหญ่เข้าไปในร้าน เลยให้ตนลองสวมทองเส้นละ 100 บาท เพื่อทำคอนเทนต์โปรโมทร้านเท่านั้น ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีเงินซื้อทอง 100 บาท เป็นเพียงความฝันเท่านั้น
ด้าน นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่น่ากังวลอะไร เพราะกำไรจากการขายบะหมี่เกี๊ยวต่อวันอยู่ที่ประมาณ วันละ 2,000 กว่าบาท หรือบางวันก็ขาดทุนด้วยซ้ำ หากคำนวณจากรายได้แล้ว น่าจะไม่เกิน 1 ล้าน 8 แสนบาท/ต่อปี หากสรรพากรลงพื้นที่มาตรวจสอบ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล และไม่ใช่เรื่อง "งานเข้า" ตามที่บางสื่อลง