อัปเดตล่าสุด อนุทินเผยแผนช่วยเหลือ 3 ชีวิต ดินในอุโมงค์รถไฟฯ ถล่ม
อัปเดตล่าสุด กว่า 72 ชั่วโมง ปฎิบัตการทีมกู้ภัย ยังมีความยากลำบาก "อนุทิน" เผยแผนทำอุโมงค์เหล็กจาก H Beam ช่วยเหลือ 3 ชีวิต ดินในอุโมงค์รถไฟฟ้าความเร็วสูงถล่ม
27 ส.ค. 2567 ภายหลังจากที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมประชุมกับ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา,นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง,นายเกริกเสกสรรค์ วาตะศิริ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการพิเศษค้นหาและกู้ภัย ,นายพลพัฒ กรรณสูต กรรมการบริหาร บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อหาแนวทางในการนำตัวผู้ประสบภัยรายแรกออกมาจากในอุโมงค์
โดยนายอนุทิน เปิดเผยว่า ตอนนี้สิ่งที่เป็นความหวัง และเป็นเรื่องที่ได้ยินดีคือเมื่อสักครู่ที่ผ่านมา ทางทีมกู้ภัยที่เข้าไปตรวจสอบสัญญาณชีพ ได้พบสัญญาณชีพของทั้ง 3 คนอยู่ ซึ่งก็สันนิษฐานได้ว่าทั้ง 3 คน อาจจะยังมีชีวิตและอยู่ในยานพาหนะ ซึ่งคันหนึ่งเป็นแบคโฮ และอีกคันเป็นรถดั้ม ซึ่งคาดว่าผู้ประสบภัยน่าจะอยู่ในรถแบคโฮ 2 คน และในรถบรรทุกอีก 1 คน เพราะจากเครื่องสแกนหาสัญญาณชีพนั้น พบว่ามี 2 คนที่อยู่ใกล้กัน และอีกคนนึงห่างออกไป ประมาณ 5 เมตร ซึ่งตอนนี้ต้องทำทุกวิถีทางในการนำตัวทั้งหมดออกมาให้ได้
โดยเราต้องใช้ทั้งทางหลักทางวิศวกรรมศาสตร์ และหลักทางกู้ภัยด้วย โดยเราจะใช้วิธีนำเหล็ก H - beam เข้าไปสร้างอุโมงค์ จากนั้นจะทำการขุดดินออกมา เมื่อถึงตัวรถแล้ว ก็ต้องใช้วิธีทางการกู้ภัยเข้ามาช่วย เพื่อที่จะเอาตัวผู้เคราะห์ร้ายออกมา ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลา ในการสร้างอุโมงค์ หลายชั่วโมง แต่ก็ไม่อยาก ให้กำหนดระยะเวลา เพราะจะเป็นการกดดันผู้ปฏิบัติงาน
ทั้งนี้เรามีความพร้อม ในเรื่องของการสนับสนุนทุกด้าน ซึ่งภายหลังจากที่ผู้ประสบภัย ออกมาที่บริเวณด้านนอก ก็จะมีการปฐมพยาบาลและนำส่งต่อไปยังโรงพยาบาลปากช่องนานา ทั้งนี้เส้นทางในการลำเลียงผู้ประสบภัย หากเป็นช่วงเวลากลางคืน จะใช้วิธีการลำเลียงด้วยรถเลื่อน ซึ่งจะวิ่งบนรางรถไฟเพื่อไปส่งผู้ประสบภัยให้ได้เร็วที่สุด เนื่องจากถนนที่เข้ามาถึงไซต์งานนั้น ค่อนข้างมีความขรุขระ และใช้เวลาลำเลียงนานมาก
แต่ถ้าหากเราพบผู้ประสบภัยในช่วงเช้า หรือเช้ามืดเราจะใช้วิธีการยกขึ้น ฮ.เพื่อไปโรงพยาบาล
ส่วนเรื่องการ ทำอุโมงค์จากเหล็ก H Beam นั้น เชื่อว่าน่าจะมีความคงทนและปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงาน แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเข้าไปทีมกู้ภัยจะต้องเป็นผู้ประเมินหน้างาน ว่าสามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่เช่นเดียวกัน
ขณะนี้ได้มีการสั่งการ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์แล้ว ซึ่งต้องบอกว่าการควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดอยู่ในมือของรัฐ ได้รับการสนับสนุนจากท่านประธานบริษัท เจ้าของโครงการ อย่างเต็มที่
ซึ่งวันนี้ที่ตนมาก็เพื่อทำให้ทุกอย่างมีเป้าหมายเดียวกัน ไม่ต้องมาแบ่งว่าเป็นพื้นที่ของรัฐหรือเอกชน เพื่อให้การดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่าไม่อยากให้ผู้ประสบภัยติดค้างในนั้นมากกว่า 72 ชั่วโมง ยังมีความยากลำบาก อาจจะอยู่ที่คนสุดท้าย ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปเป็นระยะทางประมาณ 14 เมตร ซึ่งอาจจะต้องมีการดันเหล็กเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง