เปิดไทม์ไลน์ ช่วย 3 ชีวิต ดินถล่ม อุโมงค์รถไฟความเร็วสูง จ.นครราชสีมา
เปิดไทม์ไลน์ ปฏิบัติการเข้าช่วยเหลือ 3 ชีวิต เหตุ ดินถล่ม อุโมงค์รถไฟความเร็วสูง จ.นครราชสีมา ยังพบสัญญาณชีพทั้ง 3 คน
การปฏิบัติการช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย 3 ราย ที่ติดอยู่ภายใน อุโมงค์รถไฟความเร็วสูง จ.นครราชสีมา ภายหลังเกิดดินถล่มลงมา ไม่สามารถออกมาได้ ซึ่งล่าสุดยังสามารถจับสัญญาณชีพของทั้ง 3 คนได้ แต่เนื่องจากเกิดอุปสรรคในระหว่างการช่วยเหลือ จึงทำให้ยังไม่สามารถช่วยออกมาได้ ตลอดคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ยังคงทำงานอย่างหนัก เพื่อช่วยเหลือทั้ง 3 ชีวิตอย่างเร่งด่วน และแข่งกับเวลา
ไทม์ไลน์การเข้าช่วยเหลือ 3 ชีวิต
วันที่ 27 สิงหาคม 2567
เวลา 19.00 น. กู้ภัยสว่างวิชชาธรรมสถาน ปากช่อง ได้นำอุปกรณ์กู้ภัย เข้ามาช่วยเสริมในการปฏิบัติการช่วยผู้ประสบภัยทั้ง 3 ราย โดยอุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่นำมา คืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการค้ำยัน เบาะลม ซึ่งสามารถรับน้ำหนักได้ 40-50 ตัน
นอกจากนี้ยังมีเครื่อง SCBA หรือ เครื่องช่วยหายใจในที่อับอากาศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยด้านใน
เวลา 19.30 น. กู้ภัยสว่างวิชาฯ ปากช่อง ได้มีการยกอุปกรณ์ที่ใช้ในการกู้ชีพ ทั้งหมดที่ได้มีการตะเตรียมไว้ขึ้นบนรถ เพื่อที่จะเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ทั้งหมดเข้าไปด้านในอุโมงค์ เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างอยู่ภายในอีกครั้ง
เวลา 20.00 น. นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง และ นายธนนท์ ดอกลัดดา ผู้จัดการโครงการฯ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะแพทย์ที่รอสแตนบาย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมกันอีกครั้ง ภายหลังจากที่ ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองแห่งชาติ หรือ USAR Thailand ได้เดินทางออกมาจากภายในอุโมงค์ ดังกล่าว โดยใช้เวลาในการในการประชุม 1 ชั่วโมง ภายหลังการประชุม เจ้าหน้ากู้ภัยบางส่วนได้แยกย้ายกับไปปฏิบัติหน้าที่ต่อ
หนึ่งในทีมงานได้ออกมาเปิดเผยว่า สถานการณ์ภายในอุโมงค์ขณะนี้ได้มีการขุดดินจนใกล้จะถึงกับรถดั้มแล้วโดยมีระยะห่าง ประมาณ 1 เมตร ทำให้ต้องมีการประชุมกันอีกครั้งเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำตัว ผู้ประสบภัยที่อยู่ด้านในออกมา
เวลา 20.50 น. ได้มีรถน้ำเดินทางเข้ามาในพื้นที่พร้อมกับพ่นละอองน้ำ เพื่อลดฝุ่นที่ฟุ้งกระจายขณะเดียวกัน ก็มีรถกู้ชีพ ได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ เพื่อสแตนด์บายจำนวน 2 คัน
เวลา 21.40 น. เจ้าหน้าที่จากบริษัทเจ้าของโครงการฯ ได้มาประสานขอพื้นที่ในส่วนที่เป็นจุดพักรอของผู้สื่อข่าว เพื่อตั้งเป็นจุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งในจุดนี้ทีมแพทย์จะมรการประเมินอาการของผู้ประสบภัย ว่ามีอาการระดับหนักเบา เพื่อพิจารณาการนำส่งไปโรงพยาบาลที่เหมาะสมต่อการรักษาพยาบาลต่อ ซึ่งในตอนแรกนั้นมีการวางแผนว่าจะนำผู้ประสบภัยไปรักษาที่โรงพยาบาลปากช่องนานา และโรงพยาบาลสีคิ้ว
เวลา 22.00 น. ภายหลังเจ้าหน้าที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. และเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าไปในอุโมงค์ใช้เวลา 1 ชั่วโมงได้กลับออกมาเนี่ยจากเป็นรอบที่ต้องกลับออกมาพักเพราะอากาศภายในไม่ค่อยถ่ายเทเสี่ยงต่อการหมดสติ
ส่วนการดำเนินการขุดเพื่อเอาหินและดินออกจะเป็นทางเจ้าหน้าที่ของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนกำลังดำเนินการอยู่ อุปสรรคที่พบ คือ ดินยังคงสไลด์ตัวทุกครั้งที่มีการขุดทำให้ต้องระมัดระวังในการดำเนินการปฏิบัติงาน