กรมชลประทาน แจ้งอีก 1-2 วัน พิษณุโลก เตรียมรับมวลน้ำ ต่อจากสุโขทัย
ด่านต่อไป พิษณุโลก กรมชลประทาน แจ้งอีก 1-2 วัน เตรียมรับมวลน้ำ ต่อจากสุโขทัย ด้าน ชลประทานพิษูรโลก เร่งพร่องน้ำประตูบางแก้ว ลงสู่พิจิตร
กรมชลประทาน แจ้งว่าปริมาณน้ำจาก จ.สุโขทัย กำลังเดินทางมายัง จ.พิษณุโลก ในช่วง 1-2 วันนี้ โดยกรมชลประทาน ได้เริ่มรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ “โครงการบางระกำโมเดล” เพื่อลดผลกระทบของพื้นที่ริมแม่น้ำยมสายเก่า คลองเมม คลองบางแก้ว จากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และช่วยหน่วงน้ำก่อนระบายลงสู่พื้นที่ตอนล่างด้วย
ปัจจุบัน (28 ส.ค. 67) มีการรับน้ำเข้าทุ่งบางระกำแล้วประมาณ 61 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 15% ยังสามารถรับน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามแผนบริหารจัดการน้ำที่กำหนดให้พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำเป็นที่หน่วงน้ำ 400 ล้าน ลบ.ม.
ด้าน นายชำนาญ ชูเที่ยง ชลประทานจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในจังหวัดพิษณุโลก ถือว่าต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่น้ำยมสายหลัก และแม่น้ำยมสายเก่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเข้าสู่สถานการณ์วิกฤตระดับมาก เสี่ยงน้ำเอ่อล้นตลิ่ง จากสถานการณ์ฝนตกชุกพื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำยม จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย และคาดการณ์ปริมาณน้ำสูงสุด จะไหลเข้าสู่แม่น้ำยมในเขต อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ช่วงวันที่ 29-30 ส.ค. นี้
สำหรับปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด ที่สถานีวัดน้ำ Y.14A อ.ศรีสัชนาลัย สุโขทัย ปริมาณ 1,704 ลบ.ม/วินาที โดยในส่วนการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ได้เพิ่มการระบายน้ำสูงสฺดของ ประตูระบายน้ำแม่น้ำยมสายหลัก อ.บางระกำ (ปตร.วังสะตือ,ปตร.ท่านางงาม,ปตร.ท่าแห) และ เพิ่มการระบายน้ำ แม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน ผ่านทางคลองผันน้ำยมน่าน, คลองระบาย DR-2.8 และ คลอง DR-15.8 รวมทั้งดำเนินการพร่องน้ำในแม่น้ำยมสายเก่า อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ
โดยเฉพาะที่ประตูระบายน้ำบางแก้ว ปกติทางชลประทานจะเปิดประตูระบายน้ำ 3 บาน พร่องน้ำได้ 150 ลบ.ม.ต่อวินาที ทางชลประทานได้นำท่อสูบน้ำพร่องน้ำเพิ่มขึ้นอีก 3 ท่อ จะสามารถพร่องน้ำขึ้นอีกประมาณ 10 ลบ.ม.ต่อวินาที ปัจจุบัน เริ่มรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำโครงการบางระกำโมเดล เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากพื้นที่แม่น้ำยมตอนบน และลดผลกระทบอุทกภัย
ปัจจุบันแม่น้ำยมสายเก่า ที่ไหลผ่าน อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 260-280 ลบ.ม/วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ -0.30 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก และเริ่มรับน้ำเข้าทุ่งบางระกำ แล้ว ปริมาณน้ำที่รับเข้าประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม หรือ อยู่ 12% ซึ่งโครงการบางระกำโมเดล สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 400 ล้าน ลบ.ม.