ข่าว

อัปเดต การค้นหาร่าง 2 คนงาน ใต้ซากดินถล่มอุโมงค์รถไฟ

อัปเดต การค้นหาร่าง 2 คนงาน ใต้ซากดินถล่มอุโมงค์รถไฟ

29 ส.ค. 2567

อัปเดต ปฏิบัติการค้นหาร่างอีก 2 คนงาน ใต้ซากดินถล่มอุโมงค์รถไฟความเร็วสูง ผู้ว่าฯโคราช – นายกสภาวิศวกร ลงพื้นที่สั่งการ

การค้นหาในอุโมงค์

29 ส.ค. 2567 อัปเดตสถานการณ์การเข้าช่วยเหลือและค้นหาร่าง ผู้ประสบภัย 3 ราย ที่ติดอยู่ภายใน อุโมงค์รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน จ.นครราชสีมา หลังจากเกิด ดินถล่ม เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2567 ล่าสุดเป็นที่ยืนยันแล้ว ผู้ประสบภัย 1 ราย เสียชีวิตแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ได้นำร่างออกมาจากใน อุโมงค์ ออกมาได้แล้ว โดยหลังจากนี้จะเร่งช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยอีก 2 รายที่เหลือให้ออกมาให้ได้ภายในวันนี้ ซึ่งยังคงตรวจพบเจอ สัญญาณชีพ อยู่

 

โดยนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยภายหลังจากสุนัขกู้ภัยทั้ง 3 ตัวกลับออกมาจากการปฎิบัติภารกิจค้นหาผู้สูญหายอีก 2 ราย ว่า ผลของการค้นหาสอดคล้องกับเครื่องมือสแกนตรวจจับความเคลื่อนไหวของผู้สูญหายรายที่ 2

ภาพจากเครื่องโดรน ที่ถ่ายจากมุมทางเข้าด้านบนของอุโมงค์ที่ถูกเจาะ แสดงให้เห็นถึงมิติความกว้าง ลึก เพื่อใช้ในการคำนวณและหาวิธีการที่เหมาะสมในการค้นหาผู้สูญหาย

ด้าน ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร ระบุว่า ตำแหน่งที่สุนัขกู้ภัยค้นพบตรงกับตำแหน่งที่ใช้เครื่องสแกนในครั้งแรก มีความสอดคล้องกัน ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวคาดว่าจะเป็นจุดที่รถแบคโฮจอดอยู่ จึงเชื่อว่าผู้สูญหายรายที่สองน่าจะอยู่ในบริเวณดังกล่าว แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าอยู่จุดใด

 

ถ้าจะใช้วิธีการเข้าไปหาผู้ประสบภัยรายที่สอง โดยใช้วิธีการขุดลงไปเหมือนกับการค้นหาผู้ประสบภัยรายแรกนั้น จะต้องมีการเจาะคอนกรีตลงไป ซึ่งคอนกรีตดังกล่าวมีความหนาประมาณ 1 เมตร และจุดดังกล่าวเป็นเหล็กรูปพรรณ (ribs) ซึ่งมีความแข็งแรง

 

ผู้เชี่ยวชาญ จึงมีข้อเสนอแนะว่า หากจะเข้าไปค้นหาผู้ประสบภัยรายที่สอง ให้ใช้ช่องทางที่พบผู้ประสบภัยรายแรก เพื่อเข้าไปยังจุดที่สอง เนื่องจากตอนที่กู้ภัยไปนำร่างของผู้ประสบภัยรายแรกออกมานั้น พบว่าในจุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นโพรง เมื่อมองลอดเข้าไปในระยะ 3 เมตร ก็พบกับรถแบคโฮ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นจุดที่ผู้ประสบภัยรายที่สองอยู่ แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้ทีมวิศวกรประเมินโครงสร้างว่ามีความเหมาะสมในการปฎิบัติภารกิจช่วยผู้ประสบภัยรายที่สองหรือไม่ หากไม่มีความแข็งแรงคงทน ก็ต้องมีการเสริมจุดค้ำยันควบคู่ไปกับการค้นหาผู้ประสบภัยรายที่ 2

สภาพภายในอุโมงค์

นายธเนศ ได้กล่าวถึงประเด็นที่มีคนตั้งข้อสงสัยว่าอุโมงค์ดังกล่าวนั้นมีการยุบตัวและมีการถล่มลงมาเอง หรือเป็นสาเหตุมาจากมวลดิน ด้านบนกดทับทำให้ถล่มลงมาหรือไม่ ในส่วนนี้ยังไม่สามารถตอบได้

 

เมื่อถามว่า ระหว่างการใช้สุนัขกู้ภัยเข้าไปค้นหาผู้สูญหายควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือสแกนค้นหาตรวจจับความเคลื่อนไหว มีความเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่นั้น นายธเนศ กล่าวว่า ยังพบความเคลื่อนไหวอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ไม่สามารถระบุได้อย่างละเอียด 

 

ส่วนการเคลื่อนย้ายกำลังพล และการปฎิบัติหน้าที่ของทีมกู้ภัย ผู้ว่าฯ ระบุว่า ปัจจุบันมีกู้ภัยที่เป็นทีมหลักจาก USAR จำนวน 9 คน จะมีการสับเปลี่ยนและผลัดกำลังกัน โดยจะมี 2 คนเข้าไปสแตนด์บายด้านในอุโมงค์ ส่วนอีก 7 คน จะออกมาพักรอที่บริเวณด้านนอกเพื่อรักษากำลังในการปฏิบัติภารกิจ ส่วนระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต่อวงรอบขึ้นอยู่กับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงผู้ประสบภัยรายที่ 3 นั้น ผู้ว่าฯ ระบุว่า ว่าขอช่วยผู้ประสบภัยรายที่ 2 ก่อน

 

ขณะที่การบินโดรนในวันนี้เพื่อนำมาดู โครงสร้างกองดินที่ถล่มลงมา และปริมาณดินเพื่อให้วิศวกรใช้ในการคำนวณ ช่องทางเข้า - ออก รวมไปถึงหากมีความจำเป็นต้องขนย้ายดินออกไปก็จะได้คำนวณปริมาณดินถูก

 

ผู้ว่าฯ นครราชสีมา เผยด้วยว่า  เป้าหมายของการเข้าไปของ สุนัข K9 ในครั้งนี้ ก็เพื่อหาพิกัดของผู้ประสบภัยรายที่ 2 และผู้ประสบภัยรายที่ 3 ควบคู่ไปกับการสแกนของเครื่อง Life Detecto โดยจะสำรวจด้วยกัน 3 รอบ เพื่อความแม่ยำ  เมื่อหาพิกัดของผู้ประสบภัยทั้ง 2 รายได้แล้ว ก็ต้องมาหารือกันว่าในจุดดังกล่าวนั้น มีวิธีการใดบ้างที่จะสามารถเข้าไปถึงตัวผู้ประสบภัยได้ 

 

หรือถ้าหากพบช่อง หรืออุโมงค์ ที่สามารถสอด กล้อง search Camera เข้าไปดูบรรยากาศก็จะทำควบคู่กันไป  หรือหากพบว่าจุดที่ผู้ประสบภัยอยู่นั้นมีลักษณะเป็นอุโมงค์ ที่ทีมกู้ภัยสามารถเข้าไปได้ก็จะต้องมีการตรวจสอบความแข็งแรง และมีการทำโครงสร้างค้ำยัน เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติภารกิจด้วย

 

อย่างไรก็ดี สำหรับปฏิบัติการ ในการหาพิกัดของผู้ประสบภัยอีก 2 รายนั้น มีการขอความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยได้มีการขอความร่วมมือจากบริษัท บริษัท สกาย วีไอวี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบินโดรนสำรวจพื้นที่ โดยโดรนดังกล่าวมีความสามารถในการตรวจจับรังสีความร้อนของร่างกายมนุษย์ ทางผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่า หากร่างกายมนุษย์ที่อยู่ด้านล่างมีอุณหภูมิสูงกว่าห้องเย็น เครื่องดังกล่าวก็สามารถตรวจจับได้

 

แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความหนาของกล่องดินด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ความสามารถของโดรนตัวดังกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ สามารถใช้เรดาร์ได้ 360 องศาในการสแกนพื้นที่ภายในอุโมงค์ เพื่อจำลอง แผนที่ ใช้ประกอบการวางแผนในภารกิจดังกล่าว

 

ต่อมาในช่วงเย็น ทีมกู้ภัยUSAR พร้อมด้วยสุนัข K9 จำนวน 3 ตัว ชื่อ น้องบูโน่ น้องนารี  และน้องตัวเล็ก เริ่มปฏิบัติภารกิจ หาพิกัดผู้ประสบภัยอีก 2 ราย ภายในอุโมงค์ด้วย

สภาพภายในอุโมงค์