เชียงใหม่เปิดบานประตูระบายน้ำ 5 บาน เร่งระบายน้ำลงท้ายน้ำ หวั่นฝนตกเพิ่ม
ฝนตกเพิ่ม เชียงใหม่เปิดบานประตูระบายน้ำ 5 บาน เร่งระบายน้ำลงท้ายน้ำ เข้าสู่เขื่อนภูมิพล หวั่นฝนตกหนักพื้นที่ต้นน้ำ ล่าสุดระดับน้ำปิงเพิ่มขึ้น
1 ก.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวราย อัปเดตสถานการณ์น้ำ ในแม่น้ำปิง หลังฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำ ทำให้น้ำปิงวันนี้สูงสุดในรอบปี ล่าสุด นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่ตรวจจุดวัดระดับน้ำปิง P.1 สะพานนวรัฐ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบว่ามีระดับน้ำอยู่ที่ 2.79 เมตร อัตราการไหลอยู่ที่ 339 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งยังอยู่ในระดับสีเขียว ยังไม่ถึงจุดที่เฝ้าระวัง
จากนั้นได้เดินทางไปที่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ตรวจสอบอาคารระบายน้ำ และการเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด 5 บาน เพื่อดึงมวลน้ำจากด้านเหนือประตูระบายน้ำลงสู่ท้ายน้ำ ผลักดันไปยังเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งประตูระบายน้ำท่าวังตาล ได้ยกบานขึ้นเหนือน้ำ และให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก
นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เช้านี้ได้มีน้ำหลากจากพื้นที่ อ.แม่ริม ได้ไหลมาสมทบแม่น้ำปิง ขณะนี้มวลน้ำได้มาในเขตพื้นที่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งอาคารที่สำคัญเป็นประตูระบายน้ำท่าวังตาล และได้มีการยกบานประตูระบายน้ำพ้นน้ำทั้งหมด 5 บาน เพื่อเร่งการระบายน้ำ และพื้นที่ด้านหน้าประตูระบายน้ำ จะอยู่สูงกว่าประตูระบายน้ำประมาณ 1 เมตร ประตูระบายน้ำยังไหลผ่านได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งมวลน้ำได้ไหลผ่านประตูไปในอัตรา 322 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งสถานีตรวจวัด P.1 สะพานนวรัฐ เมื่อเวลา 09.00 น. ( 1 ก.ย. 2567) อยู่ที่ 2.74 เมตร ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ อีกประมาณ 15 ซม. ถึงจะไปอยู่ในเส้นที่เฝ้าระวัง ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันที่ขอบตลิ่งด้านท้ายประตูระบายน้ำ ขอบตลิ่งก็ยังอยู่สูงกว่ามวลน้ำประมาณ 1 เมตร ท้ายน้ำยังสามารถรองรับได้อยู่ และมวลน้ำนี้ก็ได้เร่งระบายตามประตูระบายน้ำ และฝายต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพล และให้มีช่องว่างในการรับมวลน้ำจากพื้นที่ตอนบน ไม่ว่าจะไหลมาจาก อ.เชียงดาว อ.แม่แตง และอ.แม่ริม
ในส่วนของประตูระบายน้ำท่าวังตาล ก็มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง มีห้องควบคุมบานประตู ที่สามารถสั่งการได้ทั้งระบบออนไลน์ โดยผ่านสมาร์ทโฟน และออฟไลน์ ด้วยการเข้ามาควบคุมผ่านคอมพิวเตอร์ รวมทั้งมีระบบป้องกันฉุกเฉิน หากสถานการณ์ไฟฟ้าดับก็มีระบบสำรอง ที่เจ้าหน้าที่สามารถเข้าควบคุมการทำงานของประตูระบายน้ำได้
การทดสอบที่ผ่านมา ประตูระบายน้ำสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ปริมาณฝนที่ตกมากในพื้นที่ อ.แม่ริม ซึ่งจะไหลลงน้ำแม่ริมเป็นหนึ่งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำปิง ที่ใกล้เขตตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด นายเกื้อกูล ชี้แจงว่า น้ำแม่ริม แม่สา โดยสภาพลำน้ำค่อนข้างชันน้ำไหลเร็ว ซึ่งน้ำแม่ริมจะไหลลงแม่น้ำปิงหลังสถานีวัดน้ำ P.67 ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ระดับน้ำที่สถานีวัน P.1 จะมากกว่า P.67 เยอะ
โดยปริมาณน้ำที่น้ำแม่ริมขณะนี้ วัดได้ 60 ลบ.ม/วินาที น่าจะเป็นปริมาณไหลลงน้ำปิงที่เยอะมากแล้ว และตั้งแต่ 05.00 - 07.00 น. ระดับน้ำที่ P.1 เพิ่มจากน้ำแม่ริม 50 ลบ.ม./วินาที มากกว่าที่ P67 เพิ่มเล็กน้อย 5 ลบ.ม./วินาที ซึ่งในส่วนของประตูระบายน้ำท่าวังตาล ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ ได้ทำการยกบานนี่ 3, 4, 5 และบานที่ 6 พ้นน้ำ
ด้าน นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักหลายแห่งในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำปิง เมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาแม่น้ำปิง ได้แก่ น้ำแม่แตง น้ำแม่ริม และน้ำปิง สายหลักจากเชียงดาว มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จึงเห็นควรให้โครงการต่างๆ ดำเนินการ ดังนี้
เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล งดการระบายน้ำตามแผนการพร่องน้ำในเขื่อน (24-40 cms) ออกไปก่อน จนกว่าระดับน้ำในลุ่มน้ำภาพรวมลดลง ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 1 (สชป.1) จะติดตามข้อมูลและแจ้งให้ทางโครงการเริ่มระบายน้ำในช่วงที่เหมาะสม ให้ทราบอีกครั้ง และให้เจ้าหน้าที่ควบคุมกำกับอาคารชลประทานในแม่น้ำปิงสายหลัก เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยให้เร่งระบายน้ำผ่านอาคารไปด้านท้ายน้ำ ให้มีประสิทธิภาพ และควบคุมระดับน้ำด้านเหนืออาคาร ไม่ให้สูงจนเกิดผลกระทบกับพื้นที่ทั้งสองฝั่งทางน้ำ